Analysis: กรีซจ่อรับความช่วยเหลือทางการเงินงวดใหม่จากอียู-ไอเอ็มเอฟ

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 16, 2012 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรีซมีแนวโน้มที่จะยังคงรับความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศสมาชิกยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่อไป ซึ่งทำให้ประเด็นที่กรีซจะออกจากยูโรโซนนั้นไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น

ผู้ช่วยรายหนึ่งของนายยานนิส สตูร์นารัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับผู้สื่อข่าวซินหัวว่า เจ้าหน้าที่ประเมินหนี้สินจากกลุ่มทรอยก้าได้แจ้งต่อกระทรวงการคลังกรีซหลังการตรวจสอบครั้งล่าสุดว่า “มีแนวโน้มอย่างมากที่กรีซจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอีกครั้งในเดือนกันยายน"

หลังรัฐบาลผสมของกรีซประกาศตัดลดการใช้จ่ายลงอีก 1.15 หมื่นล้านยูโร (1.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อวันที่ 1 ส.ค. คณะกรรมการของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ชื่นชมความมุ่งมั่นของกรีซในการเดินหน้าปฏิรูปและยังคงดำเนินแผนมาตรการรัดเข็มขัดต่อไป

ในแถลงการณ์ที่มีการเปิดเผยเมื่อคณะผู้ตรวจสอบบัญชีจากอียู ไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้เดินทางกลับจากกรีซนั้น คณะกรรมการระบุว่า ผู้เข้าร่วมการเจรจาทุกฝ่ายได้มีมติร่วมกันเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ

นายคริสตอส สไตคูราส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของกรีซ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวของกรีซเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยคาดว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลืองวดต่อไปในช่วงกลางเดือนกันยายน

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิเคราะห์หลายคนออกมาเตือนว่า กรีซอาจโดนลอยแพจากยูโรโซน หากกรีซไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่

นายนิโคลัส เวนตูริส ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของกรีซ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ถึงแม้ว่ากรีซจะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียู-ไอเอ็มเอฟ แต่การขายตั๋วเงินคลังจะสามารถช่วยให้กรีซดำรงสถานะสมาชิกของยูโรโซนต่อไปได้

นับเป็นระยะเวลานานมาแล้วที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่าการที่ประชาชนชาวกรีซต่อต้านการใช้แผนรัดเข็มขัดมากขึ้นนั้น จะส่งผลให้กรีซต้องหลุดออกจากยูโรโซนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งรัฐสภาและจากการสำรวจความคิดเห็นครั้งล่าสุด บ่งชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป ซึ่งเกรงว่าหากกรีซออกจากยูโรโซนแล้ว จะส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ บรรดาผู้นำสภายุโรปก็ต้องการให้กรีซเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป โดยนายนิโคลัส เวย์รอน จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลกและยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของกรีซจะคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเพียง 2% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซน แต่การที่กรีซพ้นจากการเป็นสมาชิกก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ในกลุ่มประเทศสมาชิกอื่นๆที่มีปัญหาหนี้สินของยูโรโซน

ในปัจจุบันนี้ กรีซยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปีแล้ว โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจของกรีซจะยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำต่อไปอีก

นายเวนตูริส คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกรีซจะปรับตัวลดลง 7% ในปี 2555 ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีลงจากระดับปัจจุบันที่ 9% สู่ 3% ภายในปี 2557

ในขณะเดียวกัน ตัวเลขว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 25% และการปรับลดสวัสดิการสังคมขนานใหญ่ ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้นต่อมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งยิ่งทำให้รัฐบาลเผชิญความยากลำบากในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายเวนตูริส กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลผสมของกรีซต้องจัดการปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการคงสถานะสมาชิกยูโรโซนต่อไป

ในขณะที่เศรษฐกิจในยูโรโซนเลวร้ายลงนั้น ประเทศอื่นๆ เช่น สเปน ไอร์แลนด์และโปรตุเกส ต่างก็เผชิญกับการปรับตัวขาลงสู่ภาวะถดถอย

นายออลลี เรห์น รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุในหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ยูโรโซนอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ และวิกฤตหนี้เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ยุโรปต้องสร้างภาวการณ์ต่างๆเพื่อฟื้นฟูและเสริมความแข็งแกร่งของสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน

บทวิเคราะห์จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ