นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจสถานการณ์ชาวนาไทย และสินค้าเกษตร จากการสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 1,211 ราย ระหว่างวันที่ 8-12 ส.ค.55 ว่า หนี้โดยรวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 55 เพิ่มขึ้น 3-5% หรือมีมูลค่ากว่า 110,000 บาท/ครัวเรือน จากปี 54 ที่มีหนี้ 103,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.6% ซึ่งในปี 55 สัดส่วนหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นเป็น 39.1% จากปีก่อน 54 ที่อยู่ที่ 37.7% ส่วนหนี้ในระบบลดลงมาอยู่ที่ 60.9% จากปีก่อนที่ 62.3%
สาเหตุของหนี้ที่เพิ่มขึ้น มาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปุ๋ย/ยาฆ่าแมลงแพงขึ้น ต้นทุนการผลิตโดยรวมแพงขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วม และราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำนาในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ชาวนา 80.5% ระบุอยากให้ลูกหลานทำงานอื่น เพราะชาวนาเป็นอาชีพลำบากและมีรายได้ไม่แน่นอน จ้างคนทำนาคุ้มกว่า รายได้น้อยไม่เพียงพอกับรายจ่าย และต้นทุนเพิ่มขึ้น มีเพียง 19.5% เท่านั้นที่ระบุต้องการให้สืบทอดการทำนาต่อ เพราะมีที่ดินเป็นของตนเอง รักอาชีพเกษตรกรรม และคาดหวังในนโยบายรัฐบาล
เมื่อถามว่าหากมีนายทุนมาเสนอซื้อที่นาในราคาสูงจะขายหรือไม่ ผู้ตอบ 72% ระบุว่าไม่ขาย เพราะเป็นมรดกให้ลูกหลานและเป็นที่ทำกิน มีเพียง 28% ที่ระบุจะขายเพราะอยากเปลี่ยนอาชีพ และไปลงทุนอย่างอื่นที่ได้ราคาดีกว่า
สำหรับการออกบัตรเครดิตชาวนาของรัฐบาลนั้น ผู้ตอบส่วนใหญ่ 65% ระบุเห็นด้วยน้อยถึงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเพิ่มหนี้ และใช้ไม่เป็น แต่อีก 35% ระบุเห็นด้วยปานกลางถึงมาก เพราะสะดวกและมีเงินหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบส่วนใหญ่เห็นว่าบัตรเครดิตชาวนามีประโยชน์น้อยถึงไม่เห็นประโยชน์เลย
ส่วนนโยบายรับจำนำข้าว นายธนวรรธน์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรใช้นาน เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ระบบมีปัญหา เพราะไม่มีความยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นการใช้งบประมาณที่สูงถึงปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญมาก และต้องคอยตรวจสอบ เพราะการที่เกษตรกรเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ผลผลิตมาเข้าโครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นการทำให้คุณภาพมาตรฐานข้าวไทยเสียไปหรือไม่
"รัฐบาลต้องคิดให้ดี เพราะโครงการรับจำนำใช้เงินปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท หากต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีในการทดลองเพื่อหาคำตอบว่าทำถูกหรือไม่ ก็คงจะเป็นความเสี่ยงที่สูง อาจทำให้รัฐขาดทุนมากถึง 1-2 แสนล้านบาท แทนที่จะนำจำนวนนี้ไปลงทุนในโครงการท่าเรือทวาย หรือการลงทุนสร้างรถไฟฟ้ารางคู่ที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า"นายธนวรรธน์ กล่าว