"พันศักดิ์"เผยนายกฯ ขานรับแผนไฮสปีดเทรน 4 เส้นทางคาดเปิดประมูลปี 56

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 17, 2012 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำเสนอข้อมูลและความจำเป็นในการลงทุนรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว และนายกฯ เห็นด้วยในการเดินหน้าโครงการ ซึ่งภายในปีนี้กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อดำเนินการเปิดประมูลนานาชาติ (International Bidding)ให้บริษัทจากประเทศต่างๆ เสนอเงื่อนไขเข้ามาต้นปี 56 ซึ่งขณะนี้มี 4 ประเทศที่แสดงความสนใจเสนอตัวเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างโครงการ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะแรก มี 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 2. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 3. กรุงเทพฯ-พัทยา และ 4. กรุงเทพฯ-หัวหิน โดยใช้วงเงินลงทุนก่อสร้างประมาณ 4 แสนล้านบาท ทั้ง 4 โครงการจะเริ่มก่อสร้างพร้อมกันและมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 61 ซึ่งใกล้เคียงกับกำหนดการที่ท่าเรือทวายในพม่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสมบูรณ์

ระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จในปี 65 ประกอบด้วย 4 เส้นทาง ซึ่งเป็นการขยายจากระยะที่แรก ประกอบไปด้วย 1. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 2. กรุงเทพฯ-หนองคาย 3. กรุงเทพฯ-ระยอง และ 4. กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ เส้นทางที่จะก่อสร้างส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณแนวเส้นทางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว และกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาผล กระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วบางส่วน โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคมเป็นผู้ดูแล

"โครงการรถไฟความเร็วสูงถือเป็นความจำเป็นระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่หากไม่ดำเนินการก่อสร้างตามแผน ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว"นายพันศักดิ์ กล่าว

นายพันศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานของระบบการคมนาคมขนส่งของไทยในระยะ 80 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการคมนาคมขนส่งของไทยลดลง จากปัจจุบันที่มีการพึ่งพาการขนส่งทางถนนอยู่ที่ประมาณ 80% และใช้การขนส่งทางรางเพียง 2% โดยหลังจากรถไฟความเร็วสูงเปิดใช้บริการสัดส่วนการขนส่งทางสินค้าทางรางจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% และสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางถนนจะลดลง ซึ่งสอดคล้องกับราคาน้ำมันในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่อาจปรับสูงขึ้นไปถึง 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

"ในปี 61 ซึ่งเป็นปีแรกที่รถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการตามแผนจะสามารถลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้คิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาทต่อปี"นายพันศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ