หลายสำนักคาด GDP ไตรมาส 2/55 โต 2.5-3.6% หลังส่งออกหด แต่ทั้งปียังโตเกิน 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 17, 2012 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเศรษฐกิจประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/55 ที่สภาพัฒน์จะแถลงต้นสัปดาห์หน้าคงจะขยายตัวในระดับ 2.5-3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมของหลายสำนัก หลังจากวิกฤติยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจน แต่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยภายในประเทศ

ส่วนทั้งปี 55 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 5-6% มองปัญหาวิกฤติยุโรปเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ลุกลามไปถึงกำลังซื้อหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย คาดต้องอาศัยการบริโภคภายในประเทศ และการเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะต้องลุ้นให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/55 พุ่งกระฉูด

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) กำหนดประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/55 อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ส.ค.55 พร้อมกับคาดการณ์ GDP และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ในปี 55 และปี 56

                    ประมาณการ GDP ของแต่ละหน่วยงานในไตรมาส 2/55 และทั้งปี 55

          หน่วยงาน                    ไตรมาส 2/55          ปี 55

          สภาพัฒน์                                         5.5-6.5%
          ธนาคารแห่งประเทศไทย             3.5%              5.7%
          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง        น้อยกว่า 3%            5.7%
          ศูนย์วิจัย ธ.กสิกรไทย               2.6%              5.0%
          ศูนย์วิจัยฯ ม.หอการค้าไทย         2.5-3%            5.0-5.5%
          ศูนย์วิจัยฯ ธ.ไทยพาณิชย์             3.6%            5.6-5.8%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/55 จะโตไม่ถึง 3% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะโต 3% อย่างไรก็ตามยังมั่นใจว่าทั้งปี GDP ยังโตได้ 5.7% ตามเป้า

ทั้งนี้ มองว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในเดือนมิ.ย.55 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปที่ขยายตัวติดลบในระดับสูงกว่า 17.6% ซึ่งการส่งออกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย.55 ที่ขยายตัวติดลบ 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากในประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการคลัง ซึ่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐยังเป็นไปตามเป้าหมาย การบริโภค การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี และเสถียรภาพเศรษฐกิจยังแข็งแร่ง แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง

พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้หากจะให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5.7% คงต้องให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังเร่งตัวมาก โดยไตรมาส 4/55 เศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/55 จะขยายตัวได้เพียง 2.6% น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ที่ 3.6% เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.55 มีสัญญาณลบของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากระดับในเดือนก่อนหน้า หลังจากที่ได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องตามการเร่งตัวเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภาวะอุทกภัย

ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 55 จะมีปัจจัยบวกจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คงต้องคาดหวังว่าการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายและผลักดันการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนจะทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ดี แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 55 ไว้ที่ 5.0% แต่เนื่องจากสัญญาณลบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดกรอบประมาณการมาอยู่ที่ 4.5-5.5% จากกรอบเดิมที่ 4.5-6.0%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.5-3% และเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 5-5.5% เท่านั้น จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 5.6% จากช่วงคาดการณ์ 5-6%

ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณว่าจะซึมตัวยาวจากปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกขาลง, ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป, จีนปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยชะลอตัว, การบริโภคในประเทศมีสัญญาณชะลอตัว ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ การอัดฉีดงบลงทุนหรืองบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างเสถียรภาพและสร้างความปรองดองทางการเมือง การเร่งบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและภาคธุรกิจ การดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง การควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และการหามาตรการรับมือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 5.6-5.8% โดยมีการใช้จ่ายในประเทศทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปเป็นความเสี่ยงหลักที่จะทำให้โลกชะลอตัวลง และสร้างความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน

นอกจากจะส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยแล้ว ยังมีผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ดังนั้นประมาณการของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจึงปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.2-3.7% เช่นเดียวกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลง ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะคงที่อยู่ที่ 3% หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้หดตัวรุนแรง

อย่างไรก็ดี ความอ่อนไหวของนักลงทุนต่อสถานการณ์ในยุโรปทำให้อัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวนสูง โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 30-32 บาท/ดอลลาร์ ส่วนเงินบาทอาจแข็งค่าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปีเมื่อสถานการณ์ในยุโรปมีความชัดเจนขึ้น ถึงแม้ว่าภาพรวมในช่วงนี้จะเต็มไปด้วยความผันผวน แต่ธุรกิจไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและจะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีในปี 56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ