นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังค์ถัด) ชี้เศรษฐกิจโลกปี 56 วิกฤตหนักจากปัญหายุโรปกดดัน อาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตไม่ถึง 2.5% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไทยและเอเชียต้องระวังตัว แนะให้เร่งเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)เสริมความแข็งแกรงของภูมิภาค พร้อมเตือนคิดให้ดีก่อนโดดร่วมวงเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจมือกับสหรัฐ ห่วงทำยาราคาแพง
"วิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรป(อียู) ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะกดกันให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ชะลอตัวเหลือเพียง 2.5% เท่านั้น เพราะปริมาณการค้าของโลกในปีนี้อาจลดต่ำกว่า 4% จากปีก่อนที่โต 5% ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปี 56 อาจแย่หนักกว่าเดิม หรือเติบโตไม่ถึง 2.5% ด้วยซ้ำ เพราะการลงทุนของโลกยังไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ เห็นได้ชัดจากระบบการเงินของสหรัฐฯที่ยังมีโครงสร้างอ่อนแอมาก จากปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่วนเศรษฐกิจในยูโรโซนอาจล่มสลายได้ หากยังไม่มีการปฏิรูปปัญหาหนี้สินในกรีซอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้เงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ไม่เหลือแล้ว โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจในยูโรจะติดลบ 0.7% และปีหน้าคาดว่าจะติดลบเพิ่มเป็น 1-1.3%" นายศุภชัย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "New Challenges for Thailand in the New Era of Global Trade and Investment" จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เลขาฯ อังค์ถัด กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้าขึ้นอยู่กับว่าความสามารถในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มยูโร โดยต้องฝากความหวังให้เยอรมนีลงมาช่วย ขณะที่เศรษฐกิจในสหรัฐฯก็มีปัญหา เพราะในปี 56 มีการตัดงบประมาณ และขึ้นภาษี ที่สำคัญยังมีการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาคการค้าโดยรวมของโลกให้ชะลอตัวลง
"กลุ่มประเทศเอเชียจึงไม่ควรประมาท และดูยุโรปเป็นตัวอย่างเพราะขนาดสถาบันการเงินใหญ่ๆ ในสหรัฐฯและยุโรปยังล่มได้ หากเอเชียประมาทก็อาจล่มสลายได้เหมือนกัน"นายศุภชัย กล่าว
สำหรับเครื่องมือที่ทำให้เศรษฐกิจในเอเชียเติบโตได้มีเสถียรภาพ คือ จะต้องเร่งรวมตัวเป็น AEC ให้สำเร็จ ขณะเดียวกันเห็นว่าเอเชียควรนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่สูง ไปซื้อสินทรัพย์หรือเทคโนโลยีจากยุโรปในช่วงนี้ เพราะขณะนี้เอเชียมีเงินเหลือจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่รวมกันสูงถึง 60% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของโลก โดยเฉพาะจีนที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 3.4-3.5 ล้านล้านเหรียญฯ
ส่วนไทยควรส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์จากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) อาเซียนให้มากขึ้น แต่การทำข้อตกลงหุ้นส่วนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) กับสหรัฐฯ ต้องคิดให้ดีว่าสิ่งที่จะแลกกันนั้น ไทยยอมรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยา ที่อาจทำให้ยามีราคาแพงขึ้น