(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ เผยแรงกระตุ้นจากภาคเอกชนดัน GDP ไตรมาส 2/55 โต 4.2% ดีกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2012 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ขยายตัว 4.2% เทียบกับที่ขยายตัว 0.4% ในไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยสำคัญจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการผลิต และบริการ ในขณะที่การส่งออกยังหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

"โรงงานที่ได้รับผลจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อนเริ่มกลับมาผลิตได้ นักท่องเที่ยวเข้าไทยมากขึ้น การลงทุนรวมขยายตัวในเกณฑ์สูง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวดี ส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามภาวะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม"นายอาคม กล่าว

ส่วนครึ่งแรกของปี 55 เติบโต 2.2%

อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวที่ 4.2% ถือว่าสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ เนื่องจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการใช้จายภาคครัวเรือน หลังรัฐบาลออกนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ทำรายได้เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท และมียอดนักท่องเที่ยวจำนวน 48 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีแรงกระตุ้นจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 16.8% เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อทดแทนของเดิมที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยช่วงปลายปี 54

นายอาคม ระบุว่า ไตรมาส 2/55 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 5.3% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.9% เป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 67.7 เทียบกับ 65.3 ในไตรมาสแรกและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับดีอย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นในไตรมาสสามของปี 54 ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติก่อนอุทกภัย เฉลี่ยครึ่งแรกของปีค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 4.1%

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 11.8% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย และการก่อสร้างที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ขยายตัวถึง 22.1% เฉลี่ยครึ่งแรกของปี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 10.5%

ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 200,965 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.2% และ 12% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 55.3% ปรับตัวสูงขึ้นจาก 51.8% ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่งผลให้สาขาโรงแรมภัตตาคารขยายตัว 8.4% รวม 6 เดือนแรกของปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 10.5 ล้านคน ขยายตัว 7.6%

ส่วนภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 2.7% ดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัว 4.3% และเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 4/54 เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยสามารถเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 69.2% เพิ่มขึ้นจาก 62.6% ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้าของเดือนมิถุนายนปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 105.8 เทียบกับระดับ 111.1 ในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ในยุโรป เฉลี่ยครึ่งแรกของปี สาขาอุตสาหกรรมหดตัว 0.9%

ภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 1.3% ชะลอตัวจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 3.4% เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรในทุกหมวด ยกเว้นอ้อย ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่อง 11.9% โดยเฉพาะราคายางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัว 9.3% เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.5%

ขณะที่ ภาคการส่งออกสินค้า มีมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จำนวน 56,686 ล้านดอลลาร์ สรอ.หดตัว 0.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัว 4% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยการส่งออกสินค้าเกษตรยังคงหดตัว โดยเฉพาะข้าว และยางพารา โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัว ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา 4.6% อาเซียน 7.2% จีน 13.7% ออสเตรเลีย 20.5% และตะวันออกกลาง 9.8% ขณะที่การส่งออกไปยุโรปและญี่ปุ่น ยังหดตัวต่อเนื่อง 7.5% และ 1.4% ตามลำดับ รวมครึ่งแรกของปี การส่งออกมีมูลค่า 110,489 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัว 2.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ