ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า ประเทศพม่ามีศักยภาพที่ดีสำหรับการขยายตัว เนื่องจากพม่ามีทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างล้นเหลือ และมี่ที่ตั้งภูมิประเทศเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ
รายงานฉบับล่าสุดที่มีชื่อว่า “พม่าบนความเปลี่ยนแปลง: โอกาสและความท้าทาย" ซึ่งรายงานโดยธนาคารเอดีบี ระบุว่า “พม่าอาจเป็นประเทศต่อไปที่จะเจิดจรัสในทวีปเอเชีย หากพม่าสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"
รายงานยังระบุอีกว่า “พม่ามีแนวโน้มจะก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง" โดยรายงานยังได้แสดงความชื่นชมพม่าสำหรับ "การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่น่าชมเชย และการปฏิรูปในวงกว้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การปฏิรูปสกุลเงินในช่วงที่ผ่านมา"
รายงานระบุเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลได้ทำการปฏิรูปการจัดการทางการเงินและการคลังอย่างจริงจังและในวงกว้าง ในขณะที่อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ และขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการขยายตัว โดยการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเชิงกายภาพและเชิงสังคม สร้างกรอบการทำงานด้านกฎหมายและสถาบัน และพัฒนาภาคการธนาคารและการเงิน"
รายงานคาดว่า ตัวอย่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และกัมพูชาเมื่อเร็วๆนี้ในช่วงเวลาขยายตัวสูงสุดของประเทศดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่ช่วยนำทางให้พม่าสามารถดำเนินการตัดสินใจที่สำคัญๆเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะกลางและระยะยาวได้
“การเปลี่ยนแปลงในพม่าเกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง" รายงานระบุ
ทั้งนี้ รายงานระบุย้ำว่า พม่าต้องพยายามคว้าโอกาสจากการที่เอเชียผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการขยายตัวระดับโลกแห่งใหม่ โดยระบุว่า "การรวมกลุ่มในภูมิภาคเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อกลยุทธ์การขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในขณะนี้"
“พม่าและประเทศเพื่อนบ้านไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเป็น “ภูมิภาคผู้ผลิตของเอเชีย" ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าในภูมิภาคตะวันออกสำหรับการบริโภคขั้นสุดท้ายในตะวันตก อีกต่อไป เนื่องจากทวีปเอเชียกำลังเสริมความแข็งแกร่งด้านอุปสงค์ภายในภูมิภาค และนั่นได้สร้างโอกาสใหม่ๆให้กับหลายประเทศอย่างเช่น พม่า รวมทั้งช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีความสมดุลมากขึ้น" รายงานระบุ
นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า การร่วมมือในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งมากขึ้น ยังช่วยปลดล็อคเพื่อให้เกิดศักยภาพด้านการขยายตัวในการเพิ่มปริมาณทางการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน
โดยรายงานระบุว่า พม่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ดังกล่าวได้ เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ระหว่าง 2 ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของภูมิภาค อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกันกว่า 2.5 พันล้านคน
ในระหว่างปี 2543 ถึง 2553 พม่ามีการลงทุนมวลรวมภายในประเทศเฉลี่ย 14.2% ซึ่งต่ำที่สุดในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สำนักข่าวซินหัวรายงาน