นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 5.5-6.0% โดยปรับลดคาดการณ์ช่วงสูงจากเดิมที่คาดไว้ 5.5-6.5% เนื่องจากมองว่าวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะจากการใช้จ่ายของประชาชน
สศช.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่เติบโตเฉลี่ย 2.2% โดยประเมินว่าไตรมาส 3/55 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/55 ที่เติบโต 4.2% หรือจะเติบโตได้ในช่วง 4-5%
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สศช.ปรับลดคาดการณ์การส่งออกในปีนี้จาก 15.1% มาอยู่ที่ 7.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกไปยังตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรปลดลง 7.5% และญี่ปุ่นลดลง 1.4% ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ยังขยายตัวเป็นบวก
อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกที่ยังมีแนวโน้มดีในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งยังเหลือโรงงานอีก 20% ที่ยังไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ หากสามารถเปิดดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3/55 จะช่วยกระตุ้นการส่งออกในช่วงดังกล่าวได้มากขึ้น รวมถึงสินค้าอิเลคทรอนิกส์ และสินค้าตามฤดูกาลเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
"การส่งออกทั้งปีเชื่อว่าคงโตไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว โอกาสที่จะถึง 15 เปอร์เซ็นต์คงยาก แต่อาจจะดีกว่า 7.3 เปอร์เซ็นต์ก็ได้"นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ควรรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจในประเทศจะเริ่มฟื้นตัว ธปท.ก็ควรใช้นโยบายที่ช่วยในการผ่อนคลายให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น" นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 55 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง แนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับแรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากความกังวลต่อวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วนยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้า
สศช.คาดว่าในปี 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.9-3.4% การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัว 4.8% การลงทุนรวมขยายตัว 11.3% มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 7.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 0.1% ของ GDP