การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งเครื่องสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 200 กม.จาก 20 กม.ในปัจจุบันให้แล้วเสร็จในปี 58 และเปิดให้บริการครบปี 62 ใช้เงินลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท คาดจะมีผู้โดยสารเข้าระบบราว 3 ล้านคน/วัน หลังวิ่งรถไฟฟ้าครบ 10 สาย พร้อมร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ(กคช.)ผุดโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง เบื้องต้นมองที่ลำลูกกา, หัวหมาก และมีนบุรี ราว 1.5 แสนยูนิต
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม.คาดว่า ภายในปี 62 จะมีการเดินทางรถไฟฟ้า 10 เส้นทางภายในปี 62 และจะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน/วัน จากปัจจุบันที่ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)เดินรถ 20 กม. มีจำนวนผู้โดยสารกว่า 2 แสนคน/วัน และจะทำให้โครงการคุ้มทุนได้เร็วขึ้น
ในส่วน รฟม.รับผิดชอบ 6 เส้นทาง ที่ต้องใช้งบลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาทจากเส้นทางปัจจุบันที่ลงทุนไปประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยระยะทางเพิ่มขึ้นเป็น 200 กม. หรือภารกิจของ รฟม.จะทำมากขึ้น 10 เท่า ใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 6 เท่า โดยในช่วง 20 ปีของ รฟม.มีรถไฟฟ้าให้บริการเพียง 1 เส้นทางเท่านั้น นอกจากนี้ รฟม.จะแสวงหารายได้จากอสังหาริมทรัพย์ โดยจะหารูปแบบให้เอกชนเข้ามาร่วมมือมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะร่วมพัฒนาบนที่ดินของ รฟม.
อนึ่ง รถไฟฟ้า 6 เส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของรฟม.นอกเหนือเส้นทางปัจจุบัน ได้แก่ 1) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขาย ช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 27 กม. 2) สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กม. ทั้งสองสายอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3) สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี 4) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 5)สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และ 6) สายสีเขียวเข้ม ช่วงลำลูกกา-สมุทรปราการ โดยทั้ง 4 เส้นทางยังไม่ได้ก่อสร้าง
ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานกรรมการ กคช. กล่าวว่า กคช.จะร่วมมือกับ รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ในการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า เน้นที่อยู่นอกเมืองและราคาไม่แพงเพื่อขนส่งประชาชนเข้าเมืองง่ายขึ้น เบื้องต้นที่เล็งพื้นที่โครงการได้แก่ ลำลูกกา ซึ่งอยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเชียว ช่วงลำลูกกา - สมุทรปราการ , รามคำแหง บางกะปิ อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ มีนบุรี ที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู
กคช.คาดว่าจะสร้างที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 1.5 แสนยูนิต เพื่อรองรับประชาชนที่ปัจจุบันบุกรุกแนวคูคลอง เช่น คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ และประชาชนที่อาศัยตามพื้นที่ฟลัดเวย์ให้ย้ายเข้ามาพักอาศัยในโครงการดังกล่าว โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า ที่อยู่อาศัยจะอยู่ห่างจากแนวรถไฟฟ้า 5-10 กม.ราคาประมาณ 6 แสนบาทต่อยูนิต
นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า การเริ่มโครงการช้ามองเป็นโอกาสให้มีการออกแบบสถานีแต่ละเส้นทาง หรือจุดขึ้นลงให้ใกล้กับโครงการที่อยู่อาศัยที่การเคหะฯร่วมกับรฟม.
ส่วนนายณรงค์ ป้อมหลักทอง นักวิชาการ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย( TDRI) กล่าวว่า รฟม.ไม่ควรเข้ามาเป็นผู้บริหารเดินรถเอง แต่ให้เป็นเพียงผู้กำกับดูแล เพราะจะสวนทางกับนโยบายในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน (the Public-Private Partnership Program:PPP )ที่เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ
ขณะเดียวกัน รฟม.ต้องมีความรู้เทคโนโลยี และการซ่อมบำรุงเพื่อประเมินต้นทุนของเอกชนได้ถูกต้อง รวมทั้งต้องไม่ให้ใช้เทคโนโลยีใดเทคโนยีหนึ่งในการบริหารการเดินรถไฟฟ้า ควรจะเป็นระบบเปิดให้เชื่อมโยงต่อกับทุกระบบได้ ขณะที่ราคาค่าโดยสารแล้วแต่ รฟม.ต้องการจะกำหนดเท่าไร จะให้เป็น 10 หรือ 20 บาทก็ย่อมได้ แต่ต้องตอบได้ถึงความเหมาะสมเพราะใช้เงินจากงบประมาณมาอุดหนุน