นายวีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ กล่าวในงานสัมมนา “จุดเปลี่ยนการค้าโลก ไทยจะเดินอย่างไร”ว่า กระทรวงพาณิชย์ถือเป็นทัพหน้าในการสร้างบทบาทก้าวสู่เวทีการค้าโลก โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะเป็นทัพหลังคอยทำหน้าที่ในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนของไทยที่จะไปแข่งขันในเวทีการค้าโลก
"ผมในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะใช้สติปัญญาในการนำพาธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีส่วนในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่นำโดยภาคเอกชน และการพึ่งพาต่างประเทศที่ต้องมีกระทรวงพาณิชย์ชูธง และมีผู้คุ้มกัน 2 ข้าง คือธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง" นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่เรียกว่า "ทางสามแพร่ง" ที่จะต้องมีการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เนื่องจากคงเป็นการยากที่จะหวังพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นหัวรถจักรสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีปัญหาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบมาถึงประเทศจีน แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าประเทศจีนจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะจีนเป็นประเทศที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี จากการที่จีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลจีนจะต้องเร่งนำเงินมาใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยชดเชยความซบเซาของเศรษฐกิจโลกได้ รวมถึงการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อชดเชยกรณีที่เงินหยวนมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยถือเป็นประตูแห่งอาเซียนก็ควรใช้จุดนี้เดินหน้ายุทธศาสตร์การค้าการลงทุนเชื่อมโยงโครงการท่าเรือมาบตาพุด แหลมฉบัง และทวาย เพื่อเพิ่มสัดส่วนการค้าฝั่งตะวันตกให้ขยายตัวจากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับการค้าฝั่งตะวันออกที่มีสัดส่วนร้อยละ 70 ซึ่งหากสำเร็จจะพลิกโฉมการค้าของไทยในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จีนจะขยายเขตการค้าให้ครอบคลุมทั่วเอเชีย
ด้านนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้น้อยกว่าปี 54 ที่ขยายตัว 2.5% และมองว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสจะกลับเข้าสู่ภาวะซบเซาอีกครั้งในปีหน้า เนื่องจากผลต่อเนื่องของปีนี้ที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับแนวโน้มของมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นจึงไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าที่ไทยจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกเว้นการพึ่งพาแรงงานราคาถูกและการตัดราคาสินค้า ด้วยการเพิ่มคุณภาพสินค้า หันมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และเน้นการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะต้องใช้กฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งจะต้องทำให้อาเซียนรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ให้ได้ภายในปี 58 แม้จะมองว่า AEC อาจจะไม่เกิดขึ้นได้จริงในปี 58 ก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการด้านกฎระเบียบยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร
“เชื่อว่าปี 2015 AEC คงไม่เกิดขึ้นจริง เพราะอะไรก็ยังไม่พร้อม...ปัญหาของอาเซียนอยู่ที่ระเบียบ มันควรต้องมาพร้อมกับ พ.ร.บ. หรือการออกประกาศ ซึ่งในฐานะ UNCTAD ก็พร้อมจะช่วยตรงนี้” นายศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับภาคบริการภายหลังการเปิด AEC ทั้งภาคการธนาคาร สุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว และภาคขนส่ง เพราะภาคบริการจะมีความสัดส่วนสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตได้ รวมทั้งรัฐบาลจะต้องแก้ไขระบบภาษีเพื่อลดความซ้ำซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนหลังเปิด AEC ด้วย