นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอในหลักการโครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ (โครงการระยะที่ 5) ของกรมศุลกากร และการบริหารโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(Development Policy Loan:DPL)
โดยเห็นชอบวิธีการจัดหารูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) กับรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ ด้านเทคนิคและกระบวนงาน (Working Flow) ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ (Upgrade) ด้านทักษะของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและด้านการดูแลบำรุงรักษาการจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องจัดหาจากผู้ผลิตติดตั้งและพัฒนาระบบงานเดิมตามโครงการระยะที่ 1-4 ให้สอดคล้องต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องจัดหาโดยตรงกับ Nuctech Compary Limited แห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งเดิมโครงการนี้บรรจุเป็นโครงการความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและดำเนินการจัดซื้อในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดซื้อที่ไม่ผ่านตัวแทนหรือนายหน้า เป็นการขจัดข้อครหาในการจัดซื้อและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ อีกทั้งรัฐบาลอาจกำหนดเป็นนโยบายในการเจรจาระดับรัฐบาลเพื่อการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้าอื่น ๆ กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ (โครงการระยะที่ 5) ของกรมศุลกากรมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่ผ่านเข้า — ออกประเทศไทย มีจำนวนสูงถึงปีละประมาณ 6 ล้านตู้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจำนวนมากตามแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงด้านการเคลื่อนย้ายสินค้าตามเป้าหมายหลักการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของ AEC ทำให้กรมศุลกากรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อยกระดับศุลกากรไทยให้เป็นมาตรฐานสากลยิ่งขึ้นโดยการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนกระบวนงานบริการศุลกากรให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งนอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในการตัดสินใจลงทุนในประเทศ อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์เป็นเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงได้นำมาใช้แทนการเปิดตรวจด้วยเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เพียงพอต่อภารกิจในการให้บริการศุลกากรสอดคล้องกับประมาณตู้คอนเทนเนอร์สินค้าสำหรับการนำเข้า — ส่งออกที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและมีสมรรถนะรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ช่วยลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในการให้บริการ หลีกเลี่ยงการพบปะและการใช้ดุลยพินิจโดยเจ้าหน้าที่ และเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณสินค้าหมุนเวียนผ่านประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็น AEC ในปี 2558