นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยการค้าไทย เปิดเผยถึง"อนาคตยางพาราไทย ภายใต้เออีซี และทิศทางราคายางพารา“ว่า ราคายางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ของไทยในช่วง 5 ปีจากนี้ (ปี 55-60) คงยากที่จะกลับมาอยู่ที่ 120 บาท/ก.ก.
ทั้งนี้ มองว่าการที่ราคาจะขึ้นมาถึง 121 บาท/ก.ก.ได้ก็มีโอกาสเป็นไปได้เพียง 10% เท่านั้น แต่ถ้าจะวิ่งมาอยู่ที่ 94.8-107.1 บาท/ก.ก. มีโอกาสสูงถึง 50% เพราะปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อราคายางพาราส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าจะลากยาวออกไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี
ส่วนกรณีที่รัฐบาลใช้โครงการแทรกแซงราคายางพารานั้น นายอัทธ์ มองว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกทาง เพราะจะต้องใช้เงินมหาศาล และรัฐบาลคงไม่มีเงินเพียงพอที่จะทำได้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลใช้เงินเกือบ 30,000 ล้านบาทเข้าไปแทรกแซงราคาแต่ก็ยังทำให้ราคาปรับขึ้นมาได้เพียงที่ 80 บาท/ก.ก.เท่านั้น เพราะปัจจุบันไทยมีมูลค่าส่งออกยางพาราสูงถึง 130,000 ล้านบาท
"รัฐบาลแก้ไม่ถูกทาง ที่ถูกต้องคือค่อยๆ ผ่อนและลดการแทรกแซง แล้วเอางบประมาณไปใช้ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราให้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต และศึกษาวางตำแหน่งสินค้าเกษตรของไทยใน 3-5 ปีข้างหน้าว่าจะอยู่ตรงไหน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นเกษตรกรจะติดโครงการรับจำนำ ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ต้องทำแบบนี้ จนกลายเป็นวงจรที่ทำให้ตัวเกษตรกรอ่อนแอ" นายอัทธ์กล่าว
ขณะเดียวกัน ต้องปรับโครงสร้างการผลิตยางพาราทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยดึงนักลงทุนให้เข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในไทย และร่วมมือกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก ในการสร้างอำนาจต่อรอง ซึ่งหากทำได้เอเชียจะกลายเป็นผู้กำหนดราคายางพาราของโลกภายใน 1-2 ปีข้างหน้า