ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นโดยรับซื้อยางพาราในราคา 100-104 บาทต่อกิโลกรัม (ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดปัจจุบันที่ 79-81 บาทต่อกิโลกรัม) วงเงิน 15,000 ล้านบาทนั้น คงไม่เพียงพอที่จะพยุงราคายางพาราให้อยู่ในระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัมได้ เนื่องจากวงเงินดังกล่าวสามารถรับซื้อยางได้เพียง 1.47-1.5 แสนตันเท่านั้น แต่ปริมาณการผลิตในปีนี้ น่าจะสูงกว่า 3.56 ล้านตัน (หรือเพียงร้อยละ 4 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี) เห็นได้จากหลังประกาศใช้มาตรการ ราคายางพารายังคงลดลงต่อเนื่อง
อีกทั้ง ยังเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ผ่องถ่ายความเสียหายของเกษตรกรมาอยู่ที่ภาครัฐ ในขณะที่แนวโน้มราคายางจะยังไม่สดใสในระยะกลางและยาว ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีมาตรการในระยะกลางและยาวเพิ่มเติม เพื่อช่วยดูแลรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ต้องแบกรับความผันผวนจากตลาดโลกมากเช่นนี้ เพราะนอกจากชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่อีกจำนวนมาก ที่จะได้รับผลกระทบตามมา และจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภาพรวมในที่สุด
"คาดว่าจากภาวะราคายางที่ลดลงจากช่วงที่ราคายางสูงสุด ทำให้เงินที่เกษตรกรใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภาคใต้ลดลง 44,582 ล้านบาท ดังนั้นหากรายได้ของชาวสวนยางลดลง กลุ่มสินค้าที่ใช้อุปโภค จะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าบริโภค เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ทำธุรกิจดังกล่าวจะมีรายได้ลดลงตามไปด้วย โดยคาดว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า จำหน่ายยานยนต์และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น" TMB Analytics ระบุ
ทั้งนี้ TMB Analytics คาดว่า วิกฤตยุโรปต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3 ปีและเริ่มฟื้นตัวในปี 2558 จึงน่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกผ่านคู่ค้าสำคัญอย่างจีน โดยองค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตร้อยละ 8.0 ในปีนี้ และ 8.5 ในปีหน้า ถือเป็นการชะลอตัวอย่างชัดเจนหลังเติบโตอย่างร้อนแรงร้อยละ 9.1-10.4 ระหว่างปี 2551-2554 จากสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกยางพาราสำคัญของไทยอย่างจีนและยุโรป ทำให้แนวโน้มราคายางพาราไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงเหมือนช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวลดลงจากระดับราคาปัจจุบัน
สาเหตุจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อตลาดส่งออกยางพาราของไทย จีนและสหภาพยุโรปเป็นผู้ใช้ยางพาราหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 46 ของปริมาณการใช้ยางทั่วโลก ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก (ไทยผลิตยางได้ร้อยละ 31 ของการผลิตทั่วโลก) ย่อมได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากรถยนต์จดทะเบียนใหม่ของสหภาพยุโรป 6 เดือนแรกเท่ากับ 6.6 ล้านคัน ลดลงร้อยละ 7.1 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ผลของวิกฤตยุโรปกระทบเศรษฐกิจจีนชะลอตัวเช่นกัน โดยยอดผลิตรถยนต์ของจีนครึ่งปีแรกเท่ากับ 9.5 ล้านคัน ขยายตัวเพียงร้อยละ 4 เทียบกับการขยายตัวร้อนแรงระดับร้อยละ 20 ในระหว่างปี 2553-2554
นอกจากนี้ ผลกระทบยังขยายวงกว้างไปยังธุรกิจอื่นในพื้นที่ปลูกยางพารา โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคใต้ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้พึ่งพารายได้และการใช้จ่ายของชาวสวนยางพาราโดยตรง เพราะการลดลงของราคายางดังกล่าว ส่งผลให้เงินได้สุทธิ(รายได้หักต้นทุนการผลิต) ของครัวเรือนชาวสวนยางหายไปกว่า 76,165 ล้านบาท และเมื่อนำไปคำนวณรวมกับผลรายงานการศึกษาภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตรของ สนง.เศรษฐกิจการเกษตร ที่พบว่า รายได้ของชาวสวน 100 บาท จะใช้จ่ายเพื่อการบริโภค 17 บาท (อาหารและเครื่องดื่ม) และใช้จ่ายอุปโภค 41 บาท(ของใช้ประจำวัน พักผ่อน บันเทิง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยายนต์ รถยนต์)