ธปท.ย้ำร่วมงาน"วีรพงษ์"ได้แม้เห็นต่าง ยันไม่มีเหตุผลต้องกดดอกเบี้ยต่ำลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 21, 2012 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.สามารถทำงานร่วมกับนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.แม้ว่าจะมีความเห็นทางด้านนโยบายที่แตกต่างกันในบางประเด็น แต่ส่วนใหญ่เห็นตรงกันโดยเฉพาะความต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ อยากเห็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หรือการให้สถาบันการเงินเป็นตัวหลักในการสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ และเห็นด้วยกับการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเพื่อดูแลเศรษฐกิจ

"ธปท.ใช้เหตุผล หลักเศรษฐศาสตร์และหลักกฎหมายเข้ามาผสมผสานในการทำนโยบายการเงิน ไม่ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยเดียว ยังมีการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เช่น การกำหนดสินเชื่อต่อมูลหลักประกัน (LTV) หรือการกำหนดคุณสมบัติผู้ ถือบัตรเครดิต" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

พร้อมระบุว่า ธปท.จะไม่ดำเนินนโยบายการเงินในเชิงการฝืนหรือสร้างความบิดเบือนทางด้านดุลภาพ เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยขณะนี้ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปฝืนบิดเบือนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 3.00% ต่อปี ถือว่าเหมาะสมกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตามศักยภาพ เพราะเอื้อต่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของประชาชน รวมทั้งการขยายตัวสินเชื่อ ในขณะที่สามารถดูแลความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อได้ดี ประกอบกับเป็นระดับที่ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคโดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปัจจุบันอยู่ใกล้0 % จึงยังสามารถรักษาความสามารถแข่งขันทางธุร กิจได้

“ไม่มีเหตุผลที่ต้องไปฝืนหรือกดดอกเบี้ยให้ต่ำเพราะเศรษฐกิจปัจจุบันขยายตัวดี ต่างประเทศก็ให้ความเชื่อถือ มันไม่คุ้ม ท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นผลเสียลุกลามไปยังสถาบันการเงิน ไปยังเศรษฐกิจภาพรวมเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 40" นายประสาร กล่าว

พร้อมย้ำว่า การใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันถือว่ามีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย แม้จะมีหลายฝ่ายเห็นต่างว่าเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากการส่งออกถึง 70% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(GDP) ดังนั้นควรใช้นโยบายการเงินโดยการยึดการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก แต่ความจริงที่เกิดขึ้นการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อเกิดจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้นรุนแรง ภายใต้นโยบายการเงินที่อิงกับอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ ก็จะกระทบต่อการส่งออก ดังนั้นก้ต้องใช้ความพยายามรักษาอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในระดับที่กำหนดไว้ โดยการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศไปแทรกแซง

ในขณะที่การส่งออกซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยถึง 70% นั้นเกิดขึ้นเฉพาะบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ซึ่งมีความตั้งใจผลิตเพื่อการส่งออกไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทย ไม่โยงกับการบริโภคทั้งประเทศ เพราะร้านข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวที่ขึ้นมาจานละ 30 บาทไม่ได้ขึ้นกับการส่งออก แต่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ