นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียม ได้อนุมัติพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม จำนวน 2 พื้นที่ ประกอบด้วย -แหล่งดงมูล ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด และ แหล่งปะการังตะวันตก ของบริษัท เชฟรอนประเทศสำรวจและผลิต จำกัด เนื่องจากผลการสำรวจของบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมพบว่าพื้นที่ดังกล่าว มีศักยภาพทางด้านธรณีวิทยาที่จะพัฒนาเป็นแหล่งปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
สำหรับแหล่งดงมูล ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด อยู่ในแปลงสำรวจ L27/43 สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/43 โดยคณะกรรมการปิโตรเลียมมีมติเห็นชอบให้ได้รับอนุมัติเป็นพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมรวม 31.91 ตารางกิโลเมตร และคาดว่ามีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติประมาณ 96 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งจะเริ่มผลิตในปี 2558 ซึ่งหากดำเนินการพัฒนาสำเร็จและผลิตได้จะผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยบริษัทจะมีการลงทุนมูลค่าประมาณ 6,774 ล้านบาท และผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจากโครงการนี้ประมาณ 3,095 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณร้อยละ 60) ส่วนบริษัทจะได้รับผลตอบแทนหลังหักเงินลงทุน ประมาณ 2,066 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณร้อยละ 40)
แหล่งปะการังตะวันตก ของบริษัท เชฟรอนประเทศสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งอยู่ในแปลงในทะเล แปลง B11 สัมปทานเลขที่ 1/2515/5 โดยคณะกรรมการปิโตรเลียมมีมติเห็นชอบให้ได้รับอนุมัติเป็นพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมรวม 118.1 ตารางกิโลเมตร และคาดว่ามีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติประมาณ 1 แสนล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 8.97 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะเริ่มผลิตในปี 2558 และหากดำเนินการพัฒนาสำเร็จและผลิตได้ คาดว่าจะผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 4,300 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติประมาณ 59 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยบริษัทจะมีการลงทุนมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท และผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจากโครงการนี้ประมาณ 10,200 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณร้อยละ 57 ) ส่วนบริษัทจะได้รับผลตอบแทนหลังหักเงินลงทุนประมาณ 7,584 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณร้อยละ 43 )
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้สรุปสถานการณ์ด้านการจัดหาและพัฒนาปิโตรเลียมในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 ว่า ประเทศไทยมีอัตราการผลิตปิโตรเลียมเทียบเท่าน้ำมันดิบทั้งสิ้น 849,144 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 43 ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยแบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ 3,531 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 96,904 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันดิบ 145,194 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2555 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42,300 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 18
ส่วนผลการดำเนินงานในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในอัตรา 1,259 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยวันละประมาณ 736 ล้านลูกบาศก์ฟุต) และก๊าซธรรมชาติเหลว 15,825 บาร์เรลต่อวัน โดยในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2555 ซึ่งสามารถนำส่งรายได้จากการดำเนินงานในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย — มาเลเซีย สู่ประเทศ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,777 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา