สำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้าหากมาตรการลดหย่อนภาษีหมดอายุลงและรัฐบาลดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายลงจำนวนมากตามแผนในเดือนมกราคม
ทั้งนี้ CBO เปิดเผยการคาดการณ์ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับล่าสุดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม อาจหดตัวลง 0.5% หลังการปรับตามเงินเฟ้อแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
รายงานดังกล่าวคาดว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านนโยบาย เช่น การหมดอายุลงของมาตรการการลดหย่อนภาษี และการปรับลดค่าใช้จ่ายลงจำนวนมากซึ่งจะมีผลในเดือนมกราคม หรือที่เรียกว่า ภาวะหน้าผาด้านการคลัง (fiscal cliff) ถือเป็นสาเหตุหลักสำหรับความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
"ภาวะตึงตัวด้านการคลังดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจในปี 2556 ที่อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นภาวะถดถอย โดยจีดีพีแท้จริงอาจหดตัวลง 0.5% ในระหว่างไตรมาส 4 ปีนี้ถึงไตรมาส 4 ปีหน้า และอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 9% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556" CBO ระบุ
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังคาดว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐอาจจะแตะที่ 1,128 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2555 หรือมีสัดส่วน 7.3% ของจีดีพี ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะลดลงสู่ 6.41 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 4.0% ของจีดีพี
ส่วนในกรณีที่สภาคองเกรสเลือกที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การขยายเวลาในการลดหย่อนภาษีและการจำกัดการปรับลดรายจ่าย ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐอาจจะอยู่ที่ 1.0 ล้านล้านดอลลาร์ในปีหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจอาจขยายตัว 1.7% ในไตรมาสสุดท้ายปี 2556 และคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ประมาณ 8% สำนักข่าวเกียวโดรายงาน