นายวิจาเยนดรา ราว ผู้จัดการฝ่ายวิจัยด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ซึ่งเป็นองค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก กล่าวว่า กลุ่มอาเซียนเริ่มมีบทบาทในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น นับตั้งแต่มีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 2553 ที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้การผลิตและยอดขายรถยนต์ต่างๆ ในประเทศไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ หลังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นและอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยได้หยุดชะงักลง และส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยรวม
และภายในปี 2556 ยอดขายรถยนต์ของประเทศไทยและอินโดนีเซียจะสูงถึง 1 ล้านหน่วย เนื่องจากความต้องการภายในประเทศ กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และเม็ดเงินลงทุนจาก OEM ของญี่ปุ่น
"บริษัทรถยนต์หลายแห่งจากประเทศจีนและอินเดียกำลังหาช่องทางที่จะขยายตลาดในอาเซียน เนื่องจากอาเซียนเป็นฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพแข็งแกร่ง" นายวิจาเยนดรา กล่าว
นายวิจาเยนดรา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนได้เนื่องจากมีเม็ดเงินลงทุนมาจาก OEM ของญี่ปุ่น รวมไปถึงงบประมาณการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย สำหรับกำลังการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยคาดว่า จะมีอัตราการเติบโต(CAGR) จากปี 2554-2561 อยู่ที่ร้อยละ 11.9 ส่วนยอดขายทั้งหมดจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 16.1(CAGR) โดยมียอดสูงถึง 2.26 ล้านหน่วยในปี 2561 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงบวก และการนำเสนอรถรุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้การสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ อาทิ โครงการรถคันแรก จะช่วยกระตุ้นความต้องการภายในประเทศในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และคาดว่าการผลิตรถเพื่อการโดยสารจะมีโอกาสแซงหน้ารถเพื่อการพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้ "ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมีแผนการที่จะออกเปิดตัวรถรุ่นใหม่มากถึง 40 โมเดลในอนาคต โดยรวมถึง รถแบบ 5 ประตู และอีโคคาร์" นายวิจาเยนดรา กล่าว
นายวิจาเยนดรา กล่าวต่อว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย ยังคงเป็นจุดหมายหลักของการส่งออกยานยนต์ของไทย ซึ่งร้อยละ 73.9 ของยานยนต์ที่ส่งออกทั้งหมดเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาได้ถูกส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคดังกล่าว