นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการสรรหาตัวบุคคลมาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธปท. 2 ตำแหน่ง แทนนางสุชาดา กิระกุล ที่จะเกษียณอายุการทำงานในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ และนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ที่ลาออกไปรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยอาจมีการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสมัครเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ ซึ่งมีผลให้บุคคลนั้นเข้ามานั่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยตำแหน่งด้วย ดังนั้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจนำไปสู่การแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กนง.นั้น ขณะนี้คงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนก.ย.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ธปท. แต่ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าภายในองค์กรย่อมมีคนในที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นคุณสมบัติเหมาะสมจะนำรายชื่อเสนอให้คณะกรรมการ ธปท.พิจารณาได้ เว้นเสียแต่ว่าจะไม่มีใครเหมาะสม จึงค่อยมองหาบุคคลภายนอก
ส่วนความเป็นห่วงเรื่องแนวทางในการดำเนินงานของธปท.ที่ไม่ตรงกับแนวคิดของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.นั้น ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า การใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นมีความเพียงพอที่จะดูแลทั้งเสถียรภาพราคา เสถียรภาพทางการเงิน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างดี
นอกจากนี้ ธปท.ยังใช้เครื่องมือการเงินแบบผสมผสานควบคู่กับการใช้นโยบายการเงินทั้งอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการกำกับดูแลผ่านสถาบันการเงิน รวมทั้งการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงระหว่างเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านการติดตามความไม่สมดุล 7 ด้าน คือ ภาคต่างประเทศ ภาคการเงิน ภาคสถาบันการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาคการคลัง
นายประสาร กล่าวอีกว่าแนวคิดที่ต้องการให้ ธปท.นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือสร้างคลังน้ำมันนั้น ต้องเข้าใจว่า ธปท.มีหน้าที่เก็บเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้สำหรับให้นักลงทุนนำเงินบาทมาแลกเป็นดอลลาร์สหรัฐออกไปลงทุน ดังนั้นไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนที่สามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้อยู่แล้ว ก็ต้องนำเงินบาทมาแลกดอลลาร์สหรัฐจากธปท.ออกไปใช้ลงทุน เพราะ ธปท.ไม่ได้มีหน้าที่ลงทุนเพื่อแสวงหากำไร.