นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงที่ทำให้การส่งออกของไทยอาจเติบโตไม่ถึง 7% ตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะหากจะให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องทำให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในเดือน ก.ค.55 มูลค่าการส่งออกไม่ถึงระดับดังกล่าว เพราะทำได้เพียง 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแล้ว เนื่องจากกำลังซื้อลดลงทำให้ยอดส่งออกลดลง 12% และน่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องอีกสักระยะ
ดังนั้นหากจะให้การส่งออกโตถึง 7% ในช่วง 5 เดือนที่เหลือจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ของประเทศน่าจะอยู่ที่ระดับ 5.7%
"ส่งออกที่คาดว่าจะโต 7 เปอร์เซ็นต์ก็ยังมีความเสี่ยง และคงต้องทำงานหนัก เพราะในอดีตเราไม่เคยส่งออกได้ถึงเดือนละ 2.2 หมื่นล้านเหรียญ" นายประสาร กล่าว
สำหรับการดูแลเศรษฐกิจในประเทศนั้น ธปท.พร้อมที่จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงัน แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์/พี)อยู่ที่ 3% ซึ่งสามารถรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้ ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตรา 2-3% มีเพียงเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่ขยายตัวติดลบ ส่วนสหรัฐและเอเซียยังขยายตัว
ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้ถือว่าผันผวนน้อยกว่าภูมิภาค และอยู่ในระดับ 31.10-31.20 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งภาคเอกชนคุ้นชินอยู่แล้ว ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง โดยในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยังคงมีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดการเงิน
ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่มีความมั่นคง หากมีเงินทุนไหลออกเป็นจำนวนมากก็มีปริมาณเงินสำรองมากพอ ขณะเดียวกันหากมีเงินทุนไหลเข้ามามากก็สามารถบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลได้ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบในการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้เกิดความยืดหยุ่น ซึ่งสถาบันการเงินของไทยถือว่ามีความมั่นคงในเรื่องของฐานะเงินทุน สภาพคล่อง และการบริหารความเสี่ยง
ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 ว่า ภาคการเงินจะมีการเปิดเสรีให้ธนาคารในอาเซียน ซึ่งช่วงปลายปีนี้คณะทำงานของธนาคารประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะเสนอข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศอื่น เพื่อให้ผู้ว่าการธนาคารกลางของอาเซียนได้พิจารณาหารือกันและหาข้อสรุปได้ราวปี 56-57 ซึ่งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีความตื่นตัวที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศอื่นตามแนวทางที่ตนเองถนัด ทั้งการเข้าไปตั้งสาขา หรือการเข้าไปร่วมทุนกับธนาคารท้องถิ่น เช่นเดียวกันธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย
ส่วนการประชุมคณะกรรมการ ธปท.ในวันพรุ่งนี้จะมีการหารือถึงการแต่งตั้งรองผู้ว่าการ ธปท. 2 คน แทนนางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน ที่จะเกษียณอายุในเดือน ก.ย.นี้ และนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านบริหาร ที่ลาออกไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก