In Focusสุนทรพจน์"เบอร์นันเก้"ที่แจ็คสันโฮล วาทกรรมร้อนช่วงรอยต่อการเมือง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 29, 2012 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แจ็คสันโฮล เมืองเล็กๆในมลรัฐไวโอมิงของสหรัฐ กลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้เมืองดังกล่าวเป็นสถานที่จัดการประชุมประจำปีในวันที่ 31 ส.ค.นี้ แม้เจ้าภาพจะเชิญเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางและกระทรวงการคลัง รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกให้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่สปอตไลท์ของตลาดการเงินกลับจับจ้องอยู่ที่สุนทรพจน์ของ เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด หรือผู้ที่นิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็นเป็นบุคคลแห่งปี 2552 เพื่อจับสัญญาณว่าหัวเรือใหญ่ของเฟดผู้นี้จะส่งสัญญาณการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) หรือใช้มาตรการใดๆออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอกหรือไม่

ความคาดหวังที่ว่า เฟดจะประกาศใช้ QE3 เริ่มผุดขึ้นเมื่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.ซึ่งบ่งชี้ว่า คณะกรรมการหลายคนของเฟดสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หากข้อมูลเศรษฐกิจส่งสัญญาณการชะลอตัว

นอกจากนี้ ยังมีการข้อสังเกตจากนักวิเคราะห์บางกลุ่มที่ถือฤกษ์ว่า การกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองแจ็คสันโฮลในรอบนี้ เบอร์นันเก้อาจจะส่งสัญญาณการใช้ QE3 เพราะเขาเคยส่งสัญญาณการใช้ QE2 มาแล้วเมื่อครั้งที่ลุกขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองเล็กๆแห่งนี้เมื่อเดือนส.ค. 2553 ซึ่งหลังจากนั้นในเดือนพ.ย.ปีเดียวกัน เฟดก็ประกาศใช้ QE2 อย่างเป็นทางการ

แต่การใช้มาตรการ QE3 ไม่ง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก เพราะนอกจาก QE จะถูกตีตราว่าเป็นเพียงการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินด้วยการ "พิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล" แล้ว QE ยังตกเป็นจำเลยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายการเงินทั้งในสหรัฐและทั่วโลกว่า เป็นต้นตอของปัญหาเงินเฟ้อที่สหรัฐยังแก้ไม่ตกจนถึงทุกวันนี้

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ซึ่งรวมถึงนักเศรษฐศาสตร์จากฟอร์ต พิตต์ แคปิตอล มองว่า สุนทรพจน์ของเบอร์นันเก้ที่เมืองแจ็คสันโฮลในรอบนี้มี "นัยสำคัญ" เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นความเคลื่อนไหวที่อยู่บนรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐ นั่นคือการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ ... มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เบอร์นันเก้อาจจะแสดงความคิดเห็นอย่างไม่เต็มปากนักในเวทีนี้ เพราะตระหนักว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในระยะนี้ ก็อาจจะกระทบชิ่งไปถึงผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

ความเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนจะร้อนระอุมากที่สุดก็เมื่อนายมิตต์ รอมนีย์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันที่จะลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้กล่าวว่า เขาจะ "ปลด" เบน เบอร์นันเก้ออกจากตำแหน่งประธานเฟดหากเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เพราะรอมนีย์มองว่าเบอร์นันเก้ได้เพิ่มปริมาณเงินเขาสู่ระบบมากเกินไป ภายใต้วิธีการที่เรียกขานอย่างสวยหรูว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ซึ่งรอมนีย์มองว่า QE2 ที่เฟดใช้เงินทุ่มสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2553 นั้น "สูญเปล่าและใช้ไม่ได้ผล" ...และหมัดเด็ดที่ชกแสกหน้าเบอร์นันเก้แบบเต็มๆก็คือคำบริภาษที่ว่า เบอร์นันเก้เคยปฏิญาณว่าจะสานต่อเจตนารมณ์ของกรีนสแปนในการควบคุมเงินเฟ้อ แต่กลับพิมพ์เงินเข้าระบบจนทำให้สหรัฐตกอยู่ในบ่วงของเงินเฟ้อด้วยมือตัวเอง

ท่าทีแข็งกร้าวถึงขั้นขู่ปลดประธานเฟดของนายรอมนีย์ ได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากในพรรครีพับลิกัน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น รีพับลิกันยืนเคียงข้างเบอร์นันเก้มาโดยตลอด และที่สำคัญก็คือ อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นคนของรีพับลิกันเอง เป็นผู้เสนอชื่อเบอร์นันเก้ให้นั่งเก้าอี้ประธานเฟดต่อจาก อลัน กรีนสแปน ก่อนที่การเมืองสหรัฐจะผลัดใบไปอยู่ในมือของค่ายเดโมแครต ภายใต้การนำของบารัค โอบามา

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่งเช่นนี้ เป็นเรื่องยากที่จะวัดใจว่า วาทกรรมของเบอร์นันเก้ที่เมืองแจ็คสันโฮลคราวนี้จะมีการส่งสัญญาณใช้ QE3 หรือไม่ หลายคนมองว่า มีความเป็นไปได้ว่า เบอร์นันเก้อาจจะรอให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านพ้นไปก่อนในเดือนพ.ย. จึงค่อยออกมาส่งสัญญาณใดๆ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าผลลัพธ์ของการมี หรือ ไม่มี QE รอบใหม่ในปีนี้นั้น จะส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ และต่อเบอร์นันเก้ อย่างชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ โดยหากไม่มีการใช้ QE รอบใหม่ เศรษฐกิจสหรัฐก็จะมีแต่ทรงกับทรุด เพราะอัตราว่างงานยังสูงมาก ซึ่งทำให้โอกาสที่โอบามาจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สองนั้น มีไม่ถึงครึ่ง และนั่นหมายความว่า เบอร์นันเก้มีโอกาสที่จะกระเด็นออกจากเก้าอี้ประธานเฟด หากโอบามาปราชัยในศึกเลือกตั้งให้กับรอมนีย์

ในทางตรงกันข้าม หากเบอร์นันเก้ตัดสินใจทำ QE รอบใหม่ เศรษฐกิจสหรัฐที่นอนซมมานานนับปี ก็อาจจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ซึ่งก็หมายความว่า โอกาสที่โอบามาจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

จะว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจเบอร์นันเก้อยู่ไม่น้อย เพราะสถานะของเขาในเวลานี้ไม่ได้ห่างไกลจากสุภาษิตที่ว่า "ทำดีเสมอตัว ทำชั่วคนด่าทั้งเมือง" เพราะเบอร์นันเก้เข้ามารับไม้ต่อจากกรีนสแปนในยุคที่เศรษฐกิจสหรัฐเพลี่ยงพล้ำจากวิกฤตซับไพรม์และอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ทำให้เบอร์นันเก้ต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงเรื่อยมานับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานเฟด จนดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำจนเกือบเหลือ 0% ในปัจจุบัน แต่เมื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำแล้วยังไม่ได้ผล และจะทำให้เป็นลบก็คงเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่นโยบายการคลังของรัฐบาลซึ่งเคยใช้ได้ผลก็กลับมาแป๊กในช่วงหลังๆ เพราะหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงมาก คำตอบจึงออกมาที่ QE ทั้งหมดทั้งปวงที่ทำไปก็เพียงเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ลืมตาอ้าปากได้

หากมองแบบ "ใจเขาใจเรา" เบอร์นันเก้คงเจ็บปวดไม่น้อยกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของเหล่ากูรูทางการเงิน และที่เจ็บจี๊ดจนถึงขั้วหัวใจก็คงจะเป็นเสียงของ จิม โรเจอร์ส นักวิเคราะห์ชื่อดังที่อัดเฟดแบบไม่ยั้งปากว่า QE สะท้อนถึงการเดิมเกมเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของเฟด เพราะการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบนั้น นอกจากจะไม่ช่วยเยียวยาเศรษฐกิจของสหรัฐได้แล้ว ยังกลับทุบมูลค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนแอลง ซึ่งผลลบทั้งหมดนี้จะกลับมาทิ่มแทงสหรัฐเอง

อาจกล่าวได้ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะพุ่งขึ้นหรือดิ่งเหวในช่วงหลังวันที่ 31 ส.ค.นี้นั้น จะขึ้นอยู่กับว่าเบอร์นันเก้จะส่งสัญญาณใดออกมา แต่คอลัมน์ In Focus ได้แต่หวังว่า ชะตากรรมของเบอร์นันเก้คงไม่ถึงขนาดม้วนเสื่อกลับไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เหมือนเมื่อครั้งที่เคยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก อย่าง พรินซ์ตัน, สแตนฟอร์ด หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ