บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เปิดเผยว่า รายได้สุทธิของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากสัดส่วนกันสำรองหนี้สูญที่ลดลง และรายได้ที่สูงขึ้นจากธุรกิจสินเชื่อ
ธนาคารพาณิชย์และสถาบันออมเงินหลายแห่งที่อยู่ในความคุ้มครองของ FDIC มีรายได้ทั้งสิ้น 3.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ซึ่งมากกว่าไตรมาส 2 ของปีที่แล้วอยู่ 5.9 พันล้านดอลลาร์ โดยนับเป็นไตรมาสที่ 12 ติดต่อกันที่รายได้ของธนาคารพาณิชย์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้น
รายงานระบุว่า เกือบ 2 ใน 3 ของสถาบันการเงินทั้งหมดมีกำไรรายไตรมาสที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันรายงานระบุว่า สัดส่วนธนาคารที่ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 2 ปีนี้ ลดลงแตะ 10.9% จาก 15.7% ในปีก่อน
นอกจากนี้ FDIC ยังเปิดเผยว่า จำนวนธนาคารที่มีปัญหาลดลงจาก 772 แห่ง เหลือ 732 แห่งในไตรมาส 2 โดยมีสินทรัพย์รวมกัน 2.82 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สิ้นปี 2552
สำหรับในปีนี้ ธนาคารสหรัฐที่ล้มละลายมีจำนวน 40 แห่ง เมื่อเทียบกับ 68 แห่งในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ตลอดปี 2554 สถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ FDIC ประสบภาวะล้มละลายมีจำนวน 92 แห่ง เมื่อเทียบกับ 157แห่ง ในปี 2553
ธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองเงิน 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อรองรับการขาดทุนจากสินเชื่อในไตรมาส 2 ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วกว่า 26% นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจสินเชื่อยังเพิ่มขึ้น 3 พันล้านดอลลาร์ โดยปัจจัยทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้กำไรรวมของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น
"ภาคธนาคารมีความคืบหน้าต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่การฟื้นตัวในไตรมาส 2" นายมาร์ติน กรุนเบิร์ก รักษาการประธาน FDIC กล่าว "ระดับสินทรัพย์มีปัญหาและสถาบันการเงินที่ย่ำแย่ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
ทั้งนี้ สภาคองเกรสแห่งสหรัฐจัดตั้ง FDIC ในปี 2476 เพื่อรับมือกับการล้มละลายขนานใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเกิดขึ้นในยุค 1920 (พ.ศ. 2463-2472) และต้นยุค 1930 (2473-2482) โดยพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบการธนาคารของประเทศ และในปัจจุบัน FDIC รับประกันเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันออมเงินของสหรัฐกว่า 7,200 แห่ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน