รมว.อุตฯ โชว์ผลงาน 1 ปี ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนหลังน้ำท่วม,ดันยอด BOI พุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม แถลงผลงานในรอบ 1 ปี ของกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า การกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นการทำงานต่อเนื่องปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นที่ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือนักลงทุนอย่างใกล้ชิดทั้งการป้องกันฟื้นฟูรวมทั้งการเยียวยาสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย ซึ่งภาคเอกชนและนักลงทุนมีความมั่นใจ ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนกลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาก

สำหรับปี 56 มั่นใจจะเป็นปีที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวด้านการลงทุนอย่างมาก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และจะมีโครงการสำคัญคือ การต่อยอดครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น และการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการรองรับ AEC

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่ดำเนินงานในปีแรก คือ การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมชายแดนภาคใต้ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลใน จ.ปัตตานี เพื่อนำธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่ และดำเนินโครงการอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืน โดยจัดหาสถานที่ อาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการผลิต และประสานชักจูงบริษัทเอกชนนำตลาดสู่ระบบการผลิต รวมทั้งสนับสนุนการตั้งโรงงานที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัญ จ.ยะลา ในปัจจุบันสามารถสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น และมีแผนจะดำเนินการใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีต่อไป

การดูแลน้ำท่วมโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม โดยได้บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและมีมาตรการ/โครงการ เพื่อฟื้นฟูเยียวยาโรงงาน อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ย้าย หรือปิดกิจการ เช่น การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี/ต่ออายุใบอนุญาตโรงงานที่ถูกน้ำท่วม โครงการคลินิกอุตสาหกรรม ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ เป็นต้น

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมได้เปิดดำเนินกิจการตามปกติรวมแล้ว ร้อยละ 82 มีโรงงานที่ย้ายไปพื้นที่อื่นหรือปิดกิจการ ในสัดส่วนที่น้อยมาก คิดเป็นร้อยละ 7 เท่านั้น โดยสามารถรักษาการจ้างงาน 440,964 คน และการลงทุนคิดเป็น 533,976 ล้านบาท และยังคงรักษาภาษีที่รัฐพึงจะได้รับจากผู้ประกอบการอีกปีละไม่ต่ำกว่า 12,500 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้ภาคเอกชน และปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ระยะวลา 15 ปี (5 ปีแรกชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไม่จ่ายคืนเงินต้น) โดยปัจจุบันได้มีการสร้างเขื่อนถาวรรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง รวมกว่า 143 กิโลเมตรในวงเงินรวม 3,236 ล้านบาท โดยนิคมฯสหรัตนนคร ได้สร้างเขื่อนดินเหนียวโดยประสานร่วมกับกองทัพบก ขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 90 จากแผนงาน

การส่งเสริมอาหารไทยและครัวไทยสู่ครัวโลก โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมอาหาร มีจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการพัฒนา 84 ผลิตภัณฑ์ สำหรับสินค้าเกษตรที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำกับดูแล คืออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย นับว่าประสบความสำเร็จในทุกด้านเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตอ้อยที่ 97.78 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาลเพิ่มเป็น 10.24 ล้านตัน และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ และส่งออกเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าจากการส่งออกประมาณ 140,000 ล้านบาท ชาวไร่อ้อย 2 แสนรายมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 1,039 บาท/กิโลกรัม เป็น 1,069 บาท/กิโลกรัม สำหรับปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มเป็น 7.94 ล้านตัน ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ในด้านคุณภาพอ้อย ค่าความหวานจากเดิม 11.78 C.C.S. เพิ่มเป็น 12.04 C.C.S. และปริมาณน้ำตาล จากเดิม 101.33 ก.ก./ตันอ้อย เพิ่มเป็น 104.47 ก.ก./ตันอ้อย

และได้มีการเตรียมความพร้อมภาคธุรกิจ ทั้งเชิงรุกและรับ เพื่อรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยในปี 55 ได้จัดสัมนา “SMEs Roadmap : เปิดแนวรุกบุก AEC" จัดขึ้น 75 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด มีผู้เข้าร่วมปัจจุบัน 6,102 รายจากเป้าหมาย 8,000 ราย จัดทำโครงการด้านเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตรวม 3,000 กิจการ ซึ่งสามารถลดต้นทุนเพิ่มยอดขาย ขยายการลงทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ คิดเป็นมูลค่ารวม 4,174 ล้านบาท

การส่งเสริมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรมยกระดับคุณภาพสินค้า โดยให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สะสมรวมแล้วจำนวน 13,233 ราย

ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ เน้นการสร้างรายได้และการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะในการโรดโชว์ ณ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน กาตาร์ นอกจากสามารถสร้างความเชื่อมั่นถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีระดับโลกแล้ว ยังได้สร้างความมั่นใจด้วยการดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2555 (10 เดือน) เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ จาก 6 แสนล้านบาท เป็น 8 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันได้มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศขึ้นเป็นการเฉพาะ และจัดกิจกรรมศึกษาลู่ทางการลงทุนต่างประเทศ และเตรียมการที่จะปรับระบบสิทธิประโยชน์ในจการส่งเสริมการลงทุนไทยไปต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศลงได้จากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 14.5 (ข้อมูลปี 2554) โดยมีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการ และในการออกประทานบัตรและการต่ออายุประทานบัตร จะเข้มงวดและรอบคอบในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับ ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้จัดทำระบบเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก ทั้งในภาพรวมและรายสาขา 9 อุตสาหกรรมสำคัญทางเว็บไซต์ www.oie.go.th รวมทั้งมีคณะทำงานเฉพาะกิจต่อปัญหายูโรโซน

ส่วนเรื่องมาตรฐานได้คุ้มครองผู้บริโภคผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง กำหนดชนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตในโรงงานตามมาตรา 31(1) และ(3) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มีผลให้ผู้ประกอบการโรงงานเหล็กจะต้องผลิตเหล็กให้ได้ตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจในการกำกับดูแล รวมทั้งสามารถสั่งปิดโรงงานได้ ในกรณีที่โรงงานมีการผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ได้พัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยส่งเสริมโรงงานให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ปัจจุบันเข้าโครงการแล้วกว่า 2,500 ราย สำหรับการพิจารณาอนุญาตโรงงาน ส่วนใหญ่มีการก่อสร้างก่อนได้รับการอนุญาต ทำให้มีปัญหาข้อร้องเรียน และการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในโรงงาน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเพื่อประชาชนและสังคมโดยรวม เช่น Outlet เพื่อประชาชน ขายสินค้าราคาถูกเพื่อลดภาระค่าครองชีพฯ โครงการปลูกต้นคูนเฉลิมพระเกียรติ 23,980 ต้น โครงการฟื้นฟูคลองเปรมประชากร เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ