กสิกรฯ ลดส่งออกปีนี้เหลือ 7% การผลิตฟื้นไม่เต็มที่-วิกฤตหนี้ยูโรขยายวงกว้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยในปี 55 ลงมาที่ 7% (กรอบคาดการณ์ 5-9%) แม้จะคาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ยังพอมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวสมทบของสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการ การระบายสต็อกสินค้าเกษตรของภาครัฐ และฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 55 ก็ตาม

การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยที่ค่อนข้างหยุดนิ่งมาตั้งแต่ในช่วงท้ายไตรมาส 2/55 และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นไตรมาส 3/55 ทำให้ศูนย์วิจัยฯ มองว่าบรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ลากยาวภาพของความซบเซาเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 55 เมื่อรวมกับโจทย์ความสามารถทางการแข่งขันที่ยากจะพลิกฟื้นได้ในช่วงเวลาอันสั้น อาจทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยยังน่าจะอ่อนแออย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนท้ายของไตรมาสที่ 3/55 เช่นเดียวกับจังหวะการฟื้นตัวที่ค่อนข้างนิ่งของการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนก.ค. 2555 หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สองอีก 4.5% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการนำเข้านั้น เร่งตัวขึ้น 13.7% (YoY) จากที่เพิ่มขึ้นเพียง 2.6% (YoY) ในเดือนมิ.ย. ซึ่งภาพที่อ่อนแอต่อเนื่องของภาคการส่งออกของไทย ส่งผลทำให้ไทยต้องบันทึกยอดขาดดุลการค้าอีก 1.75 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจากที่ขาดดุล 546.3 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิ.ย.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาคการส่งออกของไทยในปี 55 ต้องเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากช่วงเวลาการฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วมที่ไม่พร้อมเพรียงกันของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เวลาการฟื้นฟูกำลังการผลิตที่ค่อนข้างนาน ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เร่งกำลังการผลิตกลับสู่ระดับปกติได้เร็วกว่าที่มีการประเมินไว้

นอกจากนี้ บรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ถูกกดดันจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน ซึ่งไม่เพียงแต่จะกดดันกำลังซื้อของประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนเท่านั้น ยังส่งผลกระทบเชื่อมโยงให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ จีน ต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวที่ยาวนานขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ดังนั้น ผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตหนี้ยูโรโซนต่อภาคการส่งออกของไทย จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้การกลับสู่เส้นทางการขยายตัวของการส่งออก ต้องล่าช้าออกไปเป็นช่วงเดือนท้ายๆ ของไตรมาส 3/2555 โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทั้งที่เป็นตลาดศักยภาพและตลาดหลัก ซึ่งกำลังส่งสัญญาณในเชิงลบมากขึ้น

การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกบางประเภท เช่น สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม และข้าว ซึ่งคู่แข่งของไทยในตลาดโลกมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนเหนือสินค้าของไทย

"โจทย์ความอ่อนแอของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า และความเสียเปรียบทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกรายการสำคัญของไทย น่าจะกดดันเส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกจนถึงช่วงปลายๆ ไตรมาส 3/55 ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 55 จากผลของฐาน ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยในปี 55 ลงมาที่ 7%" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ