SCB EIC ชี้วิกฤติยุโรปฉุดส่งออกหดตัว แนะเพิ่มจับตาประเทศคู่ค้าในเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 30, 2012 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ชี้วิกฤติยุโรปยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย หลังสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงไตรมาส 2 และยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกไปยุโรปหดตัวถึง 21.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้การส่งออกไปประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของยุโรปก็หดตัวตามไปด้วย เช่น จีนหดตัว 7.5%, ญี่ปุ่นหดตัว 3.5% และกลุ่มประเทศอาเซียนหดตัว 2.6% เป็นต้น ทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมของเดือน ก.ค.55 หดตัวถึง 4.5% ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวลงอย่างมากของการส่งออกของ จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ได้มีการประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้

โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือน ก.ค.55 อยู่ที่ 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.5% ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 13.7% ดุลการค้าขาดดุล 1,746 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยลดลง 4.8% ซึ่งสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่พึ่งพิงตลาดยุโรปและประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของยุโรปค่อนข้างมาก เช่น อัญมณีและเครื่องประดับหดตัว 37.3%, แผงวงจรไฟฟ้าหดตัว 35.3% ขณะที่สินค้าเกษตรก็ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกข้าวลดลง 28.5% จากปริมาณการส่งออกที่ลดลง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลง 33.8% จากปัจจัยราคาเป็นหลัก

ในด้านการนำเข้ายังขยายตัวจากการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งขยายตัวถึง 35.8% โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การนำเข้าประเภทเครื่องจักรและส่วนประกอบ ทั้งเครื่องจักรกลที่ขยายตัว 39.8% และเครื่องจักรไฟฟ้าที่ขยายตัวถึง 105.8% เมื่อการส่งออกหดตัวประกอบกับการนำเข้าขยายตัวค่อนข้างมาก จึงทำให้ยังขาดดุลการค้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะให้จับตามองประเทศคู่ค้าในภูมิภาคเอเชียควบคู่ไปกับสถานการณ์ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศจีนที่สัญญาณการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และวัตถุดิบ เป็นต้น

สำหรับเหตุการณ์ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ในยุโรปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ได้แก่ คำตัดสินของศาลเยอรมนีว่ากองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป(ESM) ขัดต่อกฎหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่, การเจรจาระหว่างกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้ Troika (ECB, IMF,European Commission) เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือต่อไป และมาตรการของธนาคารกลางยุโรปในการช่วยเหลือสเปนและอิตาลี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ