นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมัน ราคาวัสดุก่อสร้าง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง
"ภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ในช่วงหลังเหตุการณ์อุทกภัย พบว่าอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทในพื้นที่น้ำท่วมไม่ได้ซบเซาไปอย่างที่หลายฝ่ายวิตก ตรงกันข้ามกลับมีอัตราการเติบโตเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะอสังหาฯ แนวราบ ซึ่งในปีนี้ตลาดอสังหาฯ โดยรวมฟื้นตัวขึ้นประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ หลังได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
โดยเกิดจาก 4 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเติบโตในภาคอสังหาฯ คือ ปัจจัยที่ 1 ปริมาณความต้องการบ้านที่ชะลอตัวจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประการที่ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศนโยบาย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำคงที่นาน 5 ปีเพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัย (Soft-loan) ประการที่ 3 ความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้าหรือบ้านพักตากอากาศสูงขึ้นเพื่อใช้เป็นบ้านหลังที่สอง หากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นอีก และปัจจัยประการสุดท้ายคือ นโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาล" นายอนุกูล กล่าว
ทั้งนี้ ตลาดอสังหาฯ แนวราบในพื้นที่น้ำท่วมโดยส่วนใหญ่ ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการต่างสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยระบบป้องกันน้ำท่วม รวมถึงการนำเสนอโปรโมชั่น ประกันภัยเพื่อเสริมความมั่นใจแก่ลูกค้า จึงทำให้ลูกค้าคลายความกังวล โดยบางพื้นที่ถือว่าฟื้นตัว 100% แล้ว ส่วนบางพื้นที่ เช่น ย่านบางบัวทองตลาดฟื้นตัวแล้ว 70-80% ของยอดขายปกติ อาจเป็นเพราะกำลังซื้อส่วนหนึ่ง รอให้ผ่านช่วงหน้าฝน เพื่อพิจารณาว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกหรือไม่
เหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาเป็นเพียงปัจจัยลบชั่วคราว ไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพราะประชาชนส่วนใหญ่ ยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยบ้านเดี่ยวยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ที่ 47% รองลงมาคือ คอนโดมิเนียม 42% และทาวน์เฮาส์ 11% จะเห็นได้ว่ามหาอุทกภัยกระทบความรู้สึกของคนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่กลับไม่กระทบต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ยังคงต้องการบ้านเดี่ยวสูงสุด แม้โครงการดังกล่าวจะตั้งอยู่ในย่านที่ประสบอุทกภัยก็ตาม ซึ่งเหตุผลในการตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่จะมองที่ทำเลเป็นอันดับ 1 คือ 35% ราคาที่เหมาะสม 22% และรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ตรงกับความต้องการ 20% สำหรับทำเลที่เลือกส่วนใหญ่จะยังเป็นทำเลที่ตนเองคุ้นเคย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากอุทกภัย
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า ด้านราคาที่อยู่อาศัย เชื่อว่าจะมีการขยับราคาขายสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมาประมาณ 10 - 15% จากราคาที่ดินที่สูงขึ้น การปรับราคาวัสดุและปัญหาค่าแรง แต่อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากนัก
ส่วนภาพรวมพฤติกรรมผู้บริโภคหลังเหตุการณ์อุทกภัย พบว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักเนื่องจากกระแสความต้องการส่วนใหญ่ยังอยู่ในแนวราบ ซึ่งถือเป็นความต้องการที่แท้จริงของตลาด