นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.55 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น สะท้อนจากการหดตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าและการผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
"เศรษฐกิจเดือนก.ค.เห็นผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมูลค่าการผลิตเพื่อการส่งออกดหดตัว แต่การใช้จ่ายในประเทศดีขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐและภาวะต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป รองรับผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว "นายเมธี กล่าว
ธปท.ระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยการส่งออกหดตัวร้อยละ 3.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลก โดยเฉพาะหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ฮาร๋ดดิสก์ไดรฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต้อเนื่องตามปริมาณการส่งออกข้าวที่หดตัว เนื่องจากราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และราคายางพาราที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาคเอกชนยังขยายตัวได้ทั้งการบริโภคและการลงทุน ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและภาวะการเงินที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อขายในประเทศยังคงขยายตัว ซึ่งการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ช่วยรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่ง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
นายเมธี กล่าวว่า การส่งออกและการผลิตเพื่อการส่งออกหดตัว ส่วนใหญ่เป็นพวกสินค้าเกษตรที่หดตัวตามราคายางและข้าว เช่นเดียวกับฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและไอซีที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง เสื้อผ้าและสิ่งทอก็ด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดโลก การย้ายฐานการผลิต นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่หมวดยานยนต์ การส่งออกยังขยายตัวดีถึง 22%
การส่งออกที่ชะลอตัวทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมหดตัว 5.8% แต่อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะเบียร์และยาสูบ ส่วนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกหดตัวมาก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์หดตัว 31.9% เซมิคอนดักเตอร์ 30.4%
สำหรับรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 6.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากด้านผลผลิตเป็นสำคัญ โดยผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 15.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตข้าวจากปริมาณน้ำที่เอื้อต่อการเพาะปลูก และการขยายตัวของผลผลิตยางพารา ปศุสัตว์ และผลไม้ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรกรรมยังคงหดตัวร้อยละ 7.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคายางพาราที่หดตัวจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงเป็นสำคัญ
นายเมธี กล่าวว่า รายได้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวดีขึ้น ช่วยให้การบริโภคในประเทศโดยรวมขยายตัว 7% เทียบระยะเดียวกันปีก่อน และ 0.4% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.55 ขณะองค์ประกอบการบริโภคโดยรวมขยายตัวทุกตัว เครื่องชี้จากการจำหน่ายรถยนต์นั่งและการใช้น้ำมัน การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวดีขึ้น ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรมีอัตราการว่างงานต่ำ ประกอบกับนโยบายรถยนต์คันแรก จำนำข้าว ลดค่าครองชีพ เป็นปัจจัยหนุนการบริโภคให้ขยายตัวดี
ขณะที่การลงทุนเติบโต 19.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 0.7% จากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออกดีขึ้น ประกอบกับ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจก็อยู่สูงกว่า 50% ต่อเนื่องทั้งดัชนีในปัจจุบันและความเชื่อมั่นอนาคต 3 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกันการขยายตัวของสินเชื่อรวมก็สูงขึ้น 16.5% จาก 16.1% ในเดือนมิ.ย.
มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 18.8 พันล้านเหรียญ ขยายตัว 13.3% มาจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อประกอบและส่งออก รวมถึงการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งคงทนและไม่คงทน ด้านการส่งออกหดตัว 3.9% มูลค่า 19,246 ล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ดุลการค้าเกินดุล 483 ล้านเหรียญฯ และดุลบัญชี เกินดุล 107 ล้านเหรียญ
นายเมธี กล่าวว่า ขณะนี้การบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 55% ของจีดีพี ส่วนการลงทุนสัดส่วน 20% การส่งออกสุทธิอยู่ที่ 15% และอีก 10% มาจากภาคอื่น ๆ แบงก์ชาติไม่ห่วงว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นจากการเร่งใช้จ่ายในประเทศ แต่การบริโภคจะมาช่วยชะลอผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกไม่ให้เร่งตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยหนุนการบริโภคยังมีอยู่ โดยเฉพาะนโยบายภาครัฐ และนโยบายการเงินยังเอื้ออำนวย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังต่ำ