นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เตรียมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิม เพื่อตอบสนองความต้องการของกำลังซื้อที่สูงขึ้น ผ่านโครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้วางเป้าหมายเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ให้แก่ผู้ผลิตควบคู่ไปกับพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและเจาะกลุ่มเป้าหมายตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง
ทั้งนี้มูลค่าการตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ประมาณไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาทต่อปี แต่ด้วยพฤติกรรมของชาวมุสลิมที่เน้นการแต่งกายด้วยรูปแบบสินค้าที่ทันสมัย อีกทั้งมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจังในเรื่องนี้ ทำให้มูลค่าตลาดโดยรวมในแต่ละปีสูงมากขึ้น โดยในปี 54 ที่ผ่านมาตลาดเสื้อผ้ามุสลิมมีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท
นายพสุ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะนำคณะผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 12 ราย ไปจัดสัมมนาที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อแสดงความพร้อมและศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิมไทย การเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการมุสลิมในประเทศมาเลเซีย นำเสนอรูปแบบการขายสินค้าแบบขายตรงและการใช้ระบบการตลาดแบบไอทีเข้ามาช่วยเสริมการทำตลาด นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิมไทย เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ตลาดใหม่ในอนาคต
"นับเป็นโอกาสอันดี ที่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิมของประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและกระตุ้นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง" อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุ
ปัจจุบัน กลุ่มผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิมมีจำนวนไม่มากนัก และกระจายตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในพื้นที่เขตลาดกระบัง และใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และที่ผ่านมาเป็นการผลิตเพื่อใช้กันเองในกลุ่มพี่น้องมุสลิมและขายภายในจังหวัด ขณะที่ต่างประเทศมีผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ อินโดนีเซีย แต่จะมีการผลิตสินค้าที่หลากหลายกว่าประเทศไทย