สนพ.คาดการใช้พลังงานปี 55 พุ่งเกิน 5% ตามศก.ขยายตัว-LPG เริ่มปรับสู่สมดุล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2012 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)กระทรวงพลังงาน สรุปแนวโน้มการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นทั้งปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 1.94 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยประเมินจากภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2555 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 5.5 — 6.5% ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเร่งตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ถึงแม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกประเภท โดยก๊าซธรรมชาติมีการใช้เพิ่มขึ้น 4.9%เมื่อเทียบกับปีก่อน เช่นเดียวกับไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าใช้เพิ่มขึ้น 25.9% ส่วนน้ำมันทั้งปีจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 4.1% การใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น 13.1%เนื่องจากมีโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ซึ่งใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าได้เข้ามาในระบบเพิ่ม ในขณะที่ลิกไนต์จะลดลง 11.2%ซึ่งเป็นผลจากช่วงปลายปีแหล่งสัมปทานที่ใช้ในการผลิตลิกไนต์ลดกำลังการผลิตลง

ด้านการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 44,211 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เมื่อแยกประเภทน้ำมันพบว่า น้ำมันดีเซลมีการใช้มากเป็นอันดับหนึ่งประมาณ 19,989 ล้านลิตร(54.6 ล้านลิตร/วัน)หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมบางประเภทเร่งกำลังการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ส่วน LPG มีการใช้มากรองลงมาประมาณ 9,007 ล้านลิตร หรือ 4.86 ล้านตัน (ไม่รวมการใช้ LPG ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

อย่างไรก็ดี ในด้านอัตราการขยายตัว การใช้ LPG ขยายตัวเพิ่มเป็นอันดับแรกในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปสูงถึง 10.1% โดยเป็นการใช้เพิ่มขึ้นมากในภาครถยนต์ เนื่องจากราคา LPG ยังคงถูกกว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายคงราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่งไว้ที่ 21.13 บาท/กก. ต่อไปอีก 3 เดือน (16 พฤษภาคม — 15 สิงหาคม 2555) ส่วนภาคครัวเรือนการใช้เพิ่มมากเป็นอันดับสอง เนื่องจากรัฐบาลตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนที่ราคา 18.13 บาท/กก.ไปจนถึงสิ้นปี 2555

สำหรับการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งปี 2555 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.9% อยู่ที่ระดับ 176,873 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกการใช้ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศในปีนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.- มิ.ย.) การใช้พลังงานพาณิชย์ขั้นต้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน 4.2% อยู่ที่ระดับ 1.96 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 2.5% น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 5.1% ถ่านหินนำเข้าใช้เพิ่มขึ้น 7.2% การใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่ม 53.7% เนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้นในช่วงที่แหล่งเยตากุนหยุดจ่ายก๊าซ เพราะมีการซ่อมบำรุงประจำปีในช่วงเดือนธันวาคม 2554 ถึงมกราคม 2555 ส่วนลิกไนต์การใช้ลดลง 14.9% มูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

การนำเข้าสุทธิพลังงานช่วง 6 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 2.8% อยู่ระดับ 1.10 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิเพิ่มขึ้น 12.1% มูลค่าการนำเข้าพลังงานรวมช่วงครึ่งปีแรกประมาณ 7.77 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 78%ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในสัดส่วน 9%

การใช้น้ำมันสำเร็จรูปช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อน โดยน้ำมันดีเซลมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้น 6.9% สาเหตุเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกผลผลิตทางการเกษตรมีมาก ทำให้มีการขนส่งมากขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้มีการปรับราคาขายปลีกลงหลายครั้ง ประกอบกับเดือนพฤษภาคม 2555 รัฐบาลได้ยกเลิกอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลอัตรา 0.60 บาท/ลิตร ส่งผลให้การบริโภคน้ำมันของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น สำหรับราคาขายปลีกดีเซลเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 29.58 บาท/ลิตร

ส่วนการใช้น้ำมันเบนซินช่วง 6 เดือนแรกมีการใช้เพิ่ม 1.7% ขณะที่การใช้น้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 9.2% ซึ่งน้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะในเดือนเมษายน 2555 แหล่งก๊าซเยตากุนหยุดซ่อมบำรุงท่อก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ต้องหยุดรับก๊าซจากแหล่งในพม่าทั้งหมด จึงต้องนำน้ำมันเตามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติ

สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบินการใช้ลดลง 0.2% สาเหตุจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มยุโรป มาเลเซีย และสิงคโปร์ ชะลอการเดินทางเนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายทำให้ภาพรวมการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปรับตัวลดลง

ด้านการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2555 อยู่ที่ระดับ 4,390 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 4.6% โดยก๊าซธรรมชาติถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ 59% ของการใช้ทั้งหมด รองลงมาเป็นโรงแยกก๊าซ 21% ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม 14% และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) 6% แต่ในด้านอัตราเพิ่มการใช้เป็น NGV มีอัตราเพิ่มมากที่สุดถึง 20.4% เนื่องจากราคา NGV ถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ จึงมีการใช้เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้ที่ 10.50 บาท/กก. เพื่อรอผลการศึกษาต้นทุนราคาก๊าซ NGV ของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ชัดเจนก่อน

การใช้ไฟฟ้าช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 80,316 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 8.3% ซึ่งการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นนี้มาจากสภาพอากาศในช่วงเดือนเมษายนที่ร้อนจัด ประกอบกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่และภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวหลังประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 โดยการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดเริ่มฟื้นตัวหลังน้ำท่วมในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 และเติบโตได้ดีจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวถึง 21.6% จากผลของนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนรถยนต์คันแรก และจากการลงทุนสายการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกเอเชีย

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรกมีบางอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าลดลง อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดส่งออกมีการแข่งขันรุนแรง และโรงงานสิ่งทอรายใหญ่บางแห่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหยุดการผลิตชั่วคราว และบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ