นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาและแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาประเด็นที่เกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของสองประเทศภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)ว่า บีโอไอได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมชี้แจงถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าในการแก้ปัญหา และลดอุปสรรคการดำเนินการตามข้อตกลงของ 2 ประเทศในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บีโอไอและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังได้ชี้แจงถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา และความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนจัดการน้ำและแผนรับมืออุทกภัย ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นได้แสดงความพอใจต่อแผนงานต่างๆ และต้องการความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติการด้วย
“ไทยและญี่ปุ่น ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยได้ดำเนินการในส่วนต่างๆ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้ง 2 ฝ่าย แม้ยามประสบปัญหาอุทกภัยร้ายแรงในช่วงปลายปี 2554 ประเทศไทยยังได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นแสดงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยเป็นอย่างดี” นางอรรชกา กล่าว
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยังได้แจ้งความคืบหน้า การแก้ปัญหา และลดอุปสรรคการดำเนินการตามข้อตกลงของ 2 ประเทศในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังร่วมกันพิจารณาข้อเสนอประเด็นใหม่ ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเสนอเป็นครั้งแรก ได้แก่ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องกองทุนประกันภัยพิบัติ และประเด็นเก่า ได้แก่ การปรับปรุงระเบียบพิธีการด้านศุลกากร การขอผ่อนปรนอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์กับสินค้าบางประเภท และการเพิ่มโควตาปลอดภาษีประจำปีสำหรับเหล็กรีดร้อนกันกรดเคลือบน้ำมัน เหล็กรีดร้อนหน้ากว้างสำหรับนำไปรีดเย็นต่อ และเหล็กรีดร้อนหน้ากว้างที่นำไปรีดเย็นต่อเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์
รวมถึงปัญหาความหนาแน่นของการขนถ่ายตู้สินค้าที่ลาดกระบัง และความหนาแน่ของท่าเรือกรุงเทพฯ และแหลมฉบัง ซึ่งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานแผนงานที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาและความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
นอกจากนั้น ฝ่ายไทยมีการรายงานความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน 7 สาขาซึ่งบีโอไอ ได้รับมอบหมายเป็นผู้ประสานงานหลัก ได้แก่ โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อ “ครัวไทยสู่โลก” โครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็กไทย-ญี่ปุ่น โครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ โครงการเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โครงการเศรษฐกิจสร้างมูลค่า โครงการหุ้นส่วนภาครัฐและภาคเอกชน และโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ฝ่ายญี่ปุ่นให้กับประเทศไทยในด้านต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ช่องทางการตลาด หรือบางโครงการด้านงบ ประมาณ และฝ่ายไทยยังต้องการให้ญี่ปุ่นสนับสนุนอย่างจริงจังต่อไป เช่นโครงการความร่วมมือสถาบันพัฒนาบุคลากรเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
ในขณะที่การดำเนินงานของสำนักงานประสาน (Liaison Office) ของฝ่ายไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2553 ถึงเดือนสิงหาคม 2555 มีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาใช้บริการติดต่อสอบถามและขอรับคำปรึกษาการลงทุนในประเทศไทย แล้วรวม 296 บริษัท กลุ่มกิจการที่ได้รับความสนใจสูงสุด อาทิ กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ ตามด้วยกลุ่มกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วน กิจการผลิตชิ้นส่วนและ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เป็นต้น