ศุนย์วิจัยกสิกรคาด กนง.5 ก.ย.คงอัตรานโยบาย 3% เหตุเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2012 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์สะท้อนว่า แม้ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงภาพการขยับขึ้นในลักษณะเดือนต่อเดือน(Month-on-Month:MoM) ไว้อย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 55 เป็นต้นมา แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยในเดือน ส.ค.55 ได้รับอานิสงส์จากผลของฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่ทำให้เงินเฟ้อมีอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.69 และร้อยละ 1.76(YoY) ในเดือน ส.ค.จากร้อยละ 2.73 และร้อยละ 1.87(YoY) ในเดือน ก.ค.ตามลำดับ

การที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ดังนั้นจึงยังคงประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.น่าจะพิจารณายืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ในการประชุมวันที่ 5 ก.ย.นี้ ขณะที่โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะไล่สูงขึ้นไปกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.5-3.0 ของ ธปท. มีน้อยลง ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทบทวนจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของ ธปท.หากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 55

"แรงกดดันเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทบทวนจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท. หากความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่เหลือของปี" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สถานการณ์เงินเฟ้อไทยล่าสุดเดือน ส.ค.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เล็กน้อย แต่ก็ชะลอตัวลงจากเดือน ก.ค.55 ราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกร้อยละ 0.40 (MoM) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานร้อยละ 0.31(MoM) และร้อยละ 1.76(MoM) ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ส.ค.55 ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.69 และร้อยละ 1.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ส.ค.55 จากร้อยละ 2.73 และร้อยละ 1.87 ในเดือน ก.ค.ตามลำดับ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.อยู่ในระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เล็กน้อย จากที่คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 2.65 และร้อยละ 1.74 ตามลำดับ

ประเด็นสำคัญจากตัวเลขเงินเฟ้อ แม้ปัจจัยเรื่องฐานการคำนวณเปรียบเทียบยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของไทยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า แรงกดดันต่อระดับราคาสินค้ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในลักษณะเดือนต่อเดือน โดยสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดอาหารส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผักสดเพิ่มร้อยละ 2.67, ไข่/ผลิตภัณฑ์นม เพิ่มร้อยละ 0.14, ปลา/สัตว์น้ำ เพิ่มร้อยละ 0.43 และผลไม้สด เพิ่มร้อยละ 0.94

ขณะที่ราคาสินค้านหมวดที่ไม่ใช่อาหารนั้นขยับขึ้นตามปัจจัยหนุนหลายด้าน อาทิ การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตที่มีผลวันที่ 22 ส.ค. 2555 ที่ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก ร้อยละ 3.25 และร้อยละ 0.57 ตามลำดับ นอกจากนี้ ค่าน้ำประปา และค่าตรวจรักษา/ค่ายา ก็เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.82 และร้อยละ 0.43 เช่นกัน

ราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือน ส.ค.นี้ ได้รับแรงผลักดันพร้อมกัน ทั้งจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า แม้จะอยู่ในช่วงของการตรึงราคาสินค้าตามการขอความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันในการลดผลกระทบจากทิศทางการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ราคาสินค้าผู้บริโภคในประเทศยังคงรักษาจังหวะการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 2555 เป็นต้นมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2555 ไว้ที่กรอบร้อยละ 3.2-3.7(ค่ากลางที่ร้อยละ 3.5) และกรอบร้อยละ 2.2-2.5(ค่ากลางที่ร้อยละ 2.3) โดยความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะมีโอกาสเกินร้อยละ 3.0 ซึ่งเป็นกรอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายร้อยละ 0.5-3.0 ของ ธปท.มีค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องระวังแรงหนุนระดับราคาสินค้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาที่ภาระค่าครองชีพของประชาชน 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) ราคาน้ำมัน/พลังงานในประเทศ ที่อาจขยับสูงขึ้นทั้งตามทิศทางในตลาดโลก และการทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาล (2) ค่าไฟฟ้า Ft ที่จะขยับขึ้นในรอบเดือนก.ย.—ธ.ค. 2555 (3) ราคาอาหารบางประเภท ที่อาจได้รับแรงหนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก และ (4) ต้นทุนประกอบการอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้ประกอบการทยอยขอปรับขึ้นราคาสินค้าหลังพ้นช่วงตรึงราคาตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ