ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) เร่งรัดให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ต่อต้านการก่อการร้าย 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายก่อนเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เพื่อเป็นการรับประกันว่าภาพลักษณ์ของภาคธุรกิจไทยในสายตาต่างชาติไม่เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
"ที่ประชุมฯ มีมติให้เร่งรัดติดตามความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ที่ล่าสุดยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามที่คาดกันไว้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา" นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
เนื่องจากมีข้อมูลจากตัวแทนประเทศไทยที่ไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน(FATF) ณ กรุงปารีส ระบุว่า FATF ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายทั้งสองฉบับของไทยยังมีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย ที่ประเทศไทยควรขยายกรอบให้ครอบคลุมถึงการกระทำเพื่อประโยชน์โดยไม่มีการว่าจ้าง, การกำหนดคำนิยามเกี่ยวกับธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ที่มีความซับซ้อนผิดไปจากขั้นตอนปกติ รวมทั้งการสนับสนุนการก่อการร้าย ที่ไม่ควรจำกัดเฉพาะการสนับสนุนทางการเงิน แต่ควรรวมทุกการดำเนินการที่เข้าข่ายว่าเป็นการสนับสนุนการก่อการร้ายเข้าไว้ด้วย
ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถผลักดันการออกกฎหมายให้ทันการประชุมของ FATF ในเดือน ก.พ.56 จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือคงระดับสถานภาพไว้ดังเช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ก็จะไม่ทำให้สถานการณ์การทำธุรกรรมของไทยกับต่างประเทศเลวร้ายลง
ก่อนหน้านี้ FATF กำหนดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และให้ประเทศต่างๆ ระวังความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หากทำธุรกรรมกับประเทศไทยตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา