นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ส.ค.55 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ 68.4 จาก 68.2 ในเดือนก.ค.
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 69.6 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ที่ 95.8
สำหรับปัจจัยบวกมาจากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ขยายเวลาจัดเก็บภาษี(Vat) ในอัตรา 7% ออกไปอีก 2 ปี, ขยายเวลายกเว้นจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลออกไปอีก 1 เดือน และ การใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 55 เหลือ 5.5-6% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 5.5-6.5% และการค้าระหว่างประเทศเดือนก.ค. พบว่า การส่งออกยังติดลบ 4.5% ราคาน้ำมันในประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันจะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยในปลายไตรมาสที่ 3 และต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากประชาชนยังมีความวิตกกังวลและรอดูสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงทางการเมือง ความกังวลเรื่องน้ำท่วม และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 จะขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณและนโยบายการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น จะเป็นแรงพยุงที่สำคัญเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกด้วย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดังนั้นการเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมและการทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ขณะเดียวกันการดูแลราคาพลังงานและค่าครองชีพให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับรายได้ของประชาชนที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนักจะเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี และส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 5-6%
"ตอนนี้ มีความเสี่ยงของข้อมูลตัวเลขด้านส่งออก และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ถ้ารัฐบาลทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมั่นก็จะกลับมาในไตรมาส 4 แต่จุดเสี่ยงยังมี คือ คนขาดความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจะต้องขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโครงการลงทุนในแผนบริหารจัดการน้ำ" นายธนวรรธน์ กล่าว