(เพิ่มเติม) หอการค้าฯ คาด GDP ปี 55 โต 5-5.5% ภายใต้สมมติฐานส่งออกโต 6-8%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 4, 2012 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประเมินว่าจากสถานการณ์การส่งออกที่ยังผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว จึงคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้จะเติบโตราว 5.0-5.5% ภายใต้สมมติฐานการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโต 6-8% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ ซึ่งประมาณการดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโต 5.7% หลังจากภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ผลจากวิกฤิตเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงทำให้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบเชิงลบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่มีกรส่งออกชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้หลายประเทศในเอเชียเหล่านี้ต้องปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ลดต่ำลง รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงด้วยเช่นกัน

นายภูมินทร์ กล่าวว่า หอการค้าไทยเห็นว่าหากภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ขยายตัวได้ 5-6% และในปีหน้าให้ได้มากกว่า 5% จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยแบ่งเป็นมาตรการที่ภาครัฐต้องดำเนินการทันที 9 มาตรการ และที่ภาครัฐต้องดำเนินการร่วมกับเอกชนอีก 4 มาตรการ

โดย 9 มาตรการภาครัฐ ได้แก่ 1.เร่งอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ 2.รัฐบาลควรส่งเสริมและเอื้ออำนวยให้การค้าชายแดนขยายตัวได้ต่อเนื่อง 3.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ และอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ 4.สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้มีความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเมืองไทยในช่วงที่การส่งออกได้รับผลกระทบ 5.ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดประชุมหรือดูงานภายในประเทศแทนการเดินทางไปต่างประเทศ

6.ให้ความสำคัญในการเร่งรัดและบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม และประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งชาวไทยและต่างประเทศ 7.รัฐบาลควรดูแลการเมืองให้มีเสถียรภาพ ไม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการชุมนุมประท้วง 8.เตรียมมาตรการทางการเงินในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เพื่อบรรเทาปัญหาของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากยูโรโซน และ 9.ดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อต้นทุนค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ส่วน 4 มาตรการที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วย 1.ร่วมกันหาตลาดส่งออกสินค้าใหม่ และรักษาตลาดส่งออกเดิมโดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติยูโรโซนมากนัก 2.ภาคเอกชนจะส่งเสริมให้การค้าชายแดนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 3.ภาคเอกชนจะสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยวโดยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการดูงานและจัดประชุมภายในประเทศให้มากขึ้น และ 4.ภาคเอกชนจะร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้สูงขึ้น สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันที่จะปรับให้เท่ากันทั่วประเทศในปีหน้า

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากที่เคยประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะเติบโตได้ราว 5.8% นั้น สถานการณ์ล่าสุดยอมรับว่าการหวังให้การส่งออกปีนี้โตได้ถึง 5% ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิดและอาจจะมีการทบทวนตัวเลขดังกล่าวใหม่อีกครั้งในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ มองว่าตัวเลขการส่งออกที่ปรับลดลงทุกๆ 1% จะคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 6 หมื่นล้านบาท หากลดลง 2% จะคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 1-1.2 แสนล้านบาท ซึ่งมีผลให้จีดีพีย่อตัวลงอย่างน้อย 0.5-1.0% ดังนั้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินในระดับแสนล้านบาทเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนเข้าไปดูแลภาคการส่งออก การท่องเที่ยว รวมทั้งการค้าชายแดน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเพิ่มโมเมนตัมให้แก่เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 และช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายไม่ต่ำกว่า 5% ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ