นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ตลอดจนระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินงานรับจำนำสินค้าเกษตรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจัดทำเป็นแนวทางการปฏิบัติงานในส่วนที่กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นต่อไป
นายธีระ กล่าวว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน ที่มุ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรให้มีฐานะความเป็นอยู่ และมีคุณภาพชีวิต ที่ดี โดยมีการรับจำนำสินค้าเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดในปัจจุบันประมาณ 5.8 ล้านครัวเรือน จะเป็นครัวเรือนผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมกันคิดเป็น 80% ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ปลูกข้าว 3.8 ล้านครัวเรือน (65%) ผู้ปลูกมันสำปะหลัง 0.48 ล้านครัวเรือน (8%) และผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.41 ล้านครัวเรือน (7%)
สำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการรับจำนำสินค้าเกษตร ใน 3 ส่วน คือ 1) รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร และออกใบรับรอง โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรแต่ละชนิด 2) กำหนดผลผลิตเฉลี่ย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะคำนวณผลผลิตเฉลี่ยของสินค้าเกษตรแต่ละชนิดที่รัฐบาลกำหนดให้มีการรับจำนำเป็นรายจังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการรับจำนำสินค้าเกษตรของเกษตรกรในโครงการ และ3) เป็นจุดรับจำนำ (เฉพาะข้าวเปลือก) โดยมีองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และสหกรณ์การเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่เป็นจุดรับจำนำข้าวเปลือกให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
"แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีภารกิจ 3 ส่วน ดังกล่าว แต่ในข้อเท็จจริงได้มีการติดตาม กำกับ ดูแล และแก้ไขปัญหาการรับจำนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในส่วนที่มีผลกระทบกับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมและได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลมากที่สุด แม้ว่าการรับจำนำสินค้าเกษตรจะเป็นมาตรการทางการตลาดที่จะช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อเกษตรกร หรือสินค้าที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นผลที่เกิดจากขั้นตอนในส่วนที่กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบหรือไม่ก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ก็มักจะมาแจ้งหรือร้องเรียนกับเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเสมอ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้ช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรด้วยดีมาโดยตลอด ทำให้บางครั้งเกษตรกรและประชาชนก็เข้าใจว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ก็พร้อมและยินดีที่จะทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป" นายธีระ กล่าว
ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการติดตาม กำกับ ดูแลและแก้ไขปัญหาการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล และแก้ไขปัญหาการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้การดำเนินงานรับจำนำสินค้าเกษตรฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาการรับจำนำสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ จำนวน 12 คณะ เพื่อทำการสุ่มตรวจสอบพื้นที่ และเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่จะรวบรวมข้อมูล รับเรื่องร้องเรียนและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ โดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด จะมีการรายงานผลการดำเนินงานของจังหวัด ให้ทราบทุก วันที่ 15 และ 30 ของเดือน ซึ่งทำให้ฝ่ายบริหารได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานในพื้นที่อย่างชัดเจน นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและถูกต้อง เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลมากที่สุด