ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET พร้อมเปิดการซื้อขายสับปะรดกระป๋องในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยสินค้าสับปะรดที่จะนำมาซื้อขายใน AFET เป็นชนิดชิ้นคละ ขนาด 20 ออนซ์ ในน้ำเชื่อมแบบ Light Syrup
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการเสวนา"ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าสับปะรดโลก"ว่า ประเทศไทย ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาด 50% ของการส่งออกสินค้าสับปะรดทั้งหมด หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท/ปี หากใช้กลไกลสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ซื้อขายได้ในวันแรก วันที่ 28 กันยายนนี้ เชื่อว่าจะทำให้ราคาสับปะรดของไทยดีขึ้น และช่วยรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าสับปะรดให้เกษตรกรได้ รวมทั้งจะสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าสับปะรดของโลกด้วย
ด้านนายพีรพล ประเสริฐศรี ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET เปิดเผยว่า การนำสินค้าสับปะรดเข้ามาซื้อขายในตลาด AFET เนื่องจากผู้ประกอบการสับปะรดเข้ามาพูดคุยกับตลาด AFET โดยตรงให้เปิดการซื้อขายสินค้าสับปะรดล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากการค้าสับปะรดที่ผ่านมาคนซื้อคนขายจะไปต่อรองกันเอง มีความเป็นไปได้ที่จะถูกกดราคา
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถตอบได้ว่าหลังนำเข้ามาซื้อขายในตลาด AFET แล้ว วอลุ่มการซื้อขายจะมากน้อยเพียงใด โดยคาดว่ากลุ่มนักลงทุนหลักจะมาจากผู้ประกอบการ ส่วนนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งนักลงทุนประเภทเก็งกำไร (Speculator) คาดว่าคงจะเข้ามาเมื่อเห็นว่าการซื้อขายคึกคัก และราคามีความเคลื่อนไหวมีช่องทางในการเก็งกำไร
ขณะที่นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการ กล่าวถึงอนาคตสับปะรดหากนำเข้ามาซื้อขายใน AFET ว่า สินค้าที่นำมาซื้อขายใน AFET ได้ รัฐบาลต้องไม่เข้ามาแทรกแซง ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ส่วนการจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสับปะรดของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในปี 2015 ที่สำคัญจะต้องเตรียมความพร้อมต้องทำให้ตลาดสับปะรดล่วงหน้าของไทยแข็งแกร่ง เพราะสับปะรดเป็นสินค้าที่ปลูกมากในประเทศที่กำลังพัฒนา หากไทยไม่มีความพร้อมมากพออาจจะถูกประเทศอื่นๆเปิดตลาดสินค้าล่วงหน้าสับปะรดได้เช่นกัน และนักลงทุนอาจจะหันไปลงในตลาดที่อื่นหากมีความแข็งแกร่งมากกว่า และควรตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในตลาด AFET ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยหนุนนักลงทุนรายย่อยตามมา
นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ควรสร้างกลไกของตลาดสินค้าสับปะรดให้มีอำนาจในการต่อรองมากยิ่งขึ้นและควรพัฒนาข้อมูลข่าวสารของสินค้าสับปะรดให้เป็นที่รู้จัก เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนจะอาศัยข้อมูลข่าวสารก่อนตัดสินใจลงทุน
ส่วนนายวรเทพ รางชัยกุล อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตสับปะรด สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวยอมรับว่า เป็นห่วงว่าการนำสับปะรดเข้ามาซื้อขายในตลาด AFET อาจจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนกับสินค้าอื่นๆที่นำเข้ามาซื้อขายใน AFET ก่อนหน้านี้ เช่น ยางแท่ง STR20, ข้าวขาว 5% FOB, ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2, มันสำปะหลังเส้น แต่การจะทำให้สินค้าสับปะรดล่วงหน้าน่าสนใจและซื้อขายกันอย่างคึกคัก กลุ่มที่เกี่ยวข้องควรจะพัฒนาสินค้าสับปะรดให้เป็นที่รู้จัก เสริมสร้างทีมการตลาด
ด้านนายไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอโกรเวลท์ จำกัด กล่าวว่า การจะทำให้การเทรดสับปะรดใน AFET คึกคัก จะต้องมีมาร์เก็ตเมกเกอร์ เพื่อให้มีสภาพคล่องในตลาด เพื่อให้เกิดความคึกคักในตลาด AFET ต้องมีนักเก็งกำไรด้วย ถ้าสามารถมีนโยบายรัฐเข้ามาช่วย ซึ่งไม่ใช้การแทรกแซง ให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักลงทุนในต่างประเทศ ในตลาดจริงมีนักลงทุนเท่าไหร่ดึงเข้ามาลงทุนในตลาดล่วงหน้าด้วย อย่างน้อย 10-20% ทำให้เกิดวอลุ่มในตลาด AFET ให้นักลงทุนรู้สึกมั่นใจว่าเข้ามาลงทุนในตลาดนี้แล้วไม่ติดขัด เข้าออกได้สะดวก นักลงทุนรายใหญ่รายย่อยมีสภาพคล่องในการเข้าลงทุน ถ้าทำได้คาดว่าในเวลาไม่นานนักลงทุนจะกระโดดเข้ามาลงทุนใน AFET ตลาดพอเกิดแล้ว ตลาดติดแล้วก็จะติดตลอดไป ถ้าเราเป็นศูนย์กลางการค้าสับปะรด ถ้าเราทำให้ตลาดติดไว้ก่อน ทำให้มีวอลุ่มเยอะไว้ก่อน ถึง AEC จะเปิดและคู่แข่งอยากจะค้าสับปะรดบ้าง แต่นักลงทุนจะเทรดตลาดที่มีวอลุ่มมากที่สุดก่อน
"เราเห็นปัญหาจากสินค้ายาง ข้าว มันแล้ว ถ้าเราแก้ปัญหาถูกจุด ช่วยๆกันทำให้เกิดวอลุ่ม เชื่อว่าเราสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้"นายไพฑูรย์ กล่าว