นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ต้องการให้การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพราะเดิมที่ดินที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยได้รับการยกเว้นภาษี แต่หลังมีกฎหมายดังกล่าวผู้ที่มีที่ดินเกินจากเป็นที่อยู่อาศัยจะต้องมีการเสียภาษี ขณะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจมหภาค
"การจัดเก็บภาษีที่สำคัญที่สุดคือผลของการใช้กฎหมายนั้นมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ดังนั้นกฎหมายที่ดินฯ ต้องได้รับการยอมรับอย่างสนิทใจ กับผลที่เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ การร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีหน้าที่เสียภาษีและโครงสร้างภาษีที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งจะครอบคลุมถึงที่ดินที่มีรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของหรือไม่ และเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นและประเทศชาติมากน้อยแค่ไหน
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่มีความล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการจัดเก็บภาษี ยึดหลักการของภาษีทรัพย์สิน(บนฐานของมูลค่าทรัพย์สิน) ตามหลักการได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อให้ฐานภาษีมีความเป็นธรรม มีอัตราภาษีที่เหมาะสม เพื่อการเสียภาษีบำรุงท้องถิ่น กระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และ อปท.มีรายได้สอดคล้องกับการให้บริการที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของ อปท.
ทั้งนี้ ฐานภาษีจะกำหนดจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คำนวณจากราคาประเมิน โดยกำหนดเพดานอัตราภาษีไม่เกิน 0.05% สำหรับที่ดินที่ประกอบเกษตรกรรมหรือประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย โดยพื้นที่เกษตรกรรมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4, เพดานภาษีไม่เกิน 0.1% สำหรับที่อยู่อาศัยหรือประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย โดยพื้นที่เกษตรกรรมน้อยกว่า 3 ใน 4 และเพดานภาษีไม่เกิน 0.5% สำหรับที่ดินเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และที่อาศัยบนพื้นที่แปลงเดียวกัน
ส่วนอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงจะมีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษี ส่วนที่ดินที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสภาพที่ดิน ในปีแรกจะให้เก็บภาษีตามอัตราจัดเก็บจริง ส่วนปีที่ 2-3 จัดเก็บที่ 0.5% หากยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวอีกจะเก็บภาษีเพิ่มอีก 1 เท่าตัวในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2%ของมูลค่าที่ดิน
"การจัดเก็บภาษีตามร่างกฎหมายใหม่จะทำให้ที่ดินเชิงพาณิชย์มีการเสียภาษีที่ลดลง เช่น ในห้างสรรพสินค้า ดังนั้นในช่วงแรกจะขอความร่วมมือให้มีการจัดเก็บภาษีเท่าเดิมก่อน และผู้ประกอบการอาจจะได้ประโยชน์ในภายหลังจากอัตราภาษีที่ลดลง" นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม สศค.เห็นควรให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใน 4 ประเด็น คือ จัดเก็บภาษีโดย อปท.ที่มีความพร้อมก่อน เนื่องจากต้องอาศัยความพร้อมของฐานข้อมูล เช่น แผนที่ที่ดิน ราคาประเมินทรัพย์สิน ซึ่ง อปท.แต่ละแห่งมีความพร้อมไม่เท่ากัน การยกเลิกการจัดสรรเงินภาษีให้แก่ธนาคารที่ดิน เพราะการให้ อปท.นำส่งเงินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นในทางบริหารจะไม่สอดคล้องกับหลักกระจายอำนาจสู่ อปท.และอาจมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดและและการนำส่งภาษี และรายได้ อปท.ที่ลดลงให้ลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์มูลค่าเพียงอย่างเดียวเพื่อความเป็นธรรม และปรับเพิ่มเพดานอัตราภาษีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เนื่องจากเป็นการร่างกฎหมายแล้ว จึงให้ควรให้ดำเนินการให้พร้อม โดยพื้นที่เพื่อเกษตรกรรมให้ขยายเพดานภาษีจาก 0.05% เป็นไม่เกิน 0.1% ส่วนที่ดินเพื่ออยู่อาศัยให้คงเดิมเป็นเพดานภาษีไม่เกิน 0.1% ส่วนพื้นที่อื่นๆ ให้ขยายเพดานภาษีเป็นไม่เกิน 2% และที่ดินไม่ทำประโยชน์ตามควรมีเพดานอัตราภาษีคงเดิมไม่เกิน 2%