SCB EIC มอง GDP ปีนี้ขยายตัว 5.5% หลังส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 11, 2012 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC)คาดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ไทยในปีนี้จะขยายตัว 5.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ 5.6-5.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม เป็นผลจากการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัว 0.4% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปอีก เห็นได้จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของต่างประเทศ เช่น PMI New order ของจีนที่อยู่ในเกณฑ์หดตัว 3 เดือนติดต่อกัน

ดังนั้น การส่งออกในปีนี้น่าจะมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้เพียง 7.7% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ราว 10% อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากยุโรปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือกับกรีซ หรือการพิจารณาว่ากองทุน ESM ขัดรัฐธรรมนูญเยอรมนีหรือไม่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปเผชิญกับความผันผวนและอาจถดถอยลงมากกว่าที่คาด ซึ่งในกรณีนี้การส่งออกน่าจะขยายตัวได้เพียง 5% เท่านั้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อปีนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.2% เนื่องจากราคาพลังงานในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลกระทบจากการเก็งกำไรและปัจจัยด้านอุปทานที่ทำให้ประมาณการราคาน้ำมันดิบในระยะกลางยังไม่ลดลง ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นโดยในเดือนสิงหาคมราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นอีก 2-4%

นอกจากนี้ ยังมีการปรับขึ้นค่าเอฟทีรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. อีก 18 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น ราคาพลังงานจึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันเงินเฟ้อต่อไป อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้และปีหน้าน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้น SCB EIC ยังคงมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.0% จนถึงสิ้นปีนี้ แต่หากเศรษฐกิจยุโรปถดถอยลงมากกว่าที่คาดตามปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไว้ข้างต้น ธปท. น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 2.75%

ส่วนปี 56 คาดว่า ธปท. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนกว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวชัดเจน เศรษฐกิจยุโรปน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 56 แต่คงอ่อนแอเกินกว่าที่จะทำให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาเป็นปกติได้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปี 55 ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะยังไม่มีการปรับขึ้นในปี 56

ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า เนื่องจากสถานการณ์ในยุโรปและแนวทางการแก้ปัญหาจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีแรงสนับสนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปที่ทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหันมาถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่น สินทรัพย์ในสกุลเงินเอเชียเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนได้สูงในระยะสั้น เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่มาตรการทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะไม่ได้ถูกนำมาใช้ตามที่มีการคาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ