พณ.โชว์ผลงาน 1 ปีดูแลเงินเฟ้อ-ยกระดับสินค้าเกษตร-ผลักดันส่งออก-มุ่งสู่AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 12, 2012 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ สรุปผลการดำเนินงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในรอบ 1 ปีว่า จากภาวะที่เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรให้ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการดูแลภาวะค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ ยกระดับสินค้าเกษตร และสนับสนุนการพัฒนางานหัตถศิลป์และผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งมีนโยบายด้านเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการดำเนินงานใน 6 ด้านสำคัญดังนี้

1. การดูแลค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ และฟื้นฟูผู้ประกอบการ โดยได้กำกับดูแลราคาสินค้าและบริการให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีราคาถูก ได้แก่ การจัดงานธงฟ้าจำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปถึง 20-40% และจัดทั่วประเทศ สามารถลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนได้มากกว่า 5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าราว 1,250 ล้านบาท การจัดตั้ง “ร้านถูกใจ" จำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ 20 รายการในราคาต่ำกว่าร้านค้าทั่วไปถึงร้อยละ 20 มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 16,000 ร้านกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่งผลช่วยลดค่าครองชีพได้ถึง 400 ล้านบาท/เดือน และยังเป็นการฟื้นฟูร้านค้าย่อยหรือโชห่วยให้สามารถค้าขายได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ได้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าสำคัญตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงร้านค้าปลีกให้มีราคาเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าอาหารหลักของประชาชน เช่น การประกาศยืนราคารับซื้อและจำหน่ายสุกรในราคาเดิม การดูแลราคาสินค้าอาหาร การตรึงราคาน้ำมันปาล์ม การประกาศราคาแนะนำอาหารปรุงสำเร็จ 10 รายการในราคาจานละ 25 - 30 บาท และการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ตรึงราคาในสินค้าสำคัญ 7 หมวด 140 รายการ เป็นต้น

โดยผลการดำเนินการดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอยู่ในระดับที่เหมาะสม อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเม.ย.55 เป็นต้นมา และเงินเฟ้อในรอบ 8 เดือนขยายตัวเพียง 2.89% ยังต่ำกว่าประมาณการที่กำหนดไว้ที่ 3.3 — 3.8% และต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน

2. ยกระดับราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินงานตามนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล โดยดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทำให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงก่อนมีการรับจำนำ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ สูงขึ้นตันละ 1,000-1,800 บาท โดยราคาเฉลี่ยในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นจากตันละ 14,169 บาท ในปี 54 เป็น 15,333 บาทในปี 55 หรือเพิ่มขึ้น 8.2% ส่วนข้าวเปลือกเจ้า ราคาสูงขึ้นตันละ 1,000 - 1,100 บาท โดยราคาเฉลี่ยเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นจาก 9,612 บาทในปี 54 มาเป็น 10,401 บาท ในปี 55 หรือเพิ่มขึ้น 8.2%

ในทิศทางเดียวกัน ราคาส่งออกข้าวของไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับระดับมาตรฐานคุณภาพของข้าวไทยที่มีมากกว่าข้าวของประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยรับซื้อสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ เช่น กระเทียม หอมแดง พริก สนับสนุนการกระจายผลผลิตสินค้าเกษตร เช่น ไข่ไก่ เนื้อหมู กระเทียม กุ้งขาว จัดระบบการค้าสินค้าปาล์มน้ำมัน และถั่วเหลือง การส่งเสริมตลาดกลางสินค้าเกษตรให้เป็นแหล่งซื้อขายและกระจายสินค้าที่ได้มาตรฐาน อาทิ ตลาดกลางประมูลข้าวสาร ท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า

3. ส่งเสริมงานหัตถศิลป์และผลิตภัณฑ์ชุมชน(OTOP) เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย โดยมุ่งพัฒนาตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อขยายโอกาสสู่ตลาดสากลผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ, การร่วมแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ, สนับสนุนภารกิจของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ การการอบรมเชิงลึกด้านการออกแบบ และการพัฒนาการตลาดในรูปแบบใหม่ อาทิ การจัดจุดจำหน่ายสินค้าแบบพิเศษให้น่าสนใจในห้างสรรพสินค้า, สนามบิน, โรงแรมชั้นนำ รวมถึงการจำหน่ายทางระบบออนไลน์, แฟรนไชส์ และการขายตรง

ส่งผลให้การส่งออกสินค้าหัตถศิลป์ไทยที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 9-10% ในช่วงปี 2548-2553 และคาดว่าปี 2555 จะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 540 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จัดเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 15 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ขยายตัวอย่างน้อย 10%

4. ผลักดันและสร้างความเชื่อมั่นการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวประกอบกับที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 55(มกราคม - กรกฎาคม) การส่งออกมีมูลค่า 4.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกของหลายประเทศยังคงหดตัว เช่น ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และอินเดีย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดกลยุทธ์ในการรุกและขยายตลาดไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน, จีน, อินเดีย และรัสเซีย เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่ประสบปัญหา โดยมุ่งเน้นสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น อาหาร เกษตรแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าแฟชั่น เน้นสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าด้วยการมอบตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ให้แก่ผู้ประกอบการและมอบเครื่องหมาย Thai Select ให้แก่ร้านอาหารไทยที่มีคุณภาพกว่า 800 ร้านค้าใน 25 ประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยสู่ระดับสากลควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหารคุณภาพสูง จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สินค้าอาหารมีมูลค่าส่งออกสูงขึ้นกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหสรัฐฯ และคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

5. สนับสนุนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า กระทรวงพาณิชย์เร่งพัฒนาการให้บริการด้านการเริ่มต้นธุรกิจและการทำธุรกรรมทางการค้า อาทิ การขอสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Service) ผ่านธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 6 แห่งกว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะครบถ้วนทั้ง 6 ธนาคารในปีนี้ ถือเป็นนวัตกรรมการให้บริการภาครัฐที่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กด้านการส่งเสริม และปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมให้คนไทยรู้จักปกป้องและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าด้านการสร้างสรรค์ที่ไทยมีศักยภาพทั้งภาพยนตร์ งานออกแบบและการสร้างตราสินค้า (Brand)

6. ตรียมความพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community : AEC) รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในการที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจากการรวมตัวเป็นตลาดเดียวและมีประชากรในภูมิภาคกว่า 590 ล้านคน เป็นโอกาสของไทยในการใช้อาเซียนเป็นฐานในการขยายการผลิต การค้าให้กว้างขึ้น ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ การค้าของไทยกับอาเซียนมีมูลค่ารวม 1.76 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.18% คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน 20.5% โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการค้ากับอาเซียนให้ถึง 25% ในปี 56 และเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 58

การดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งสมาพันธ์โรงสีข้าวและผู้ค้าข้าวแห่งอาเซียน และสมาพันธ์ผู้ค้ามันสำปะหลังแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศไทย กัมพูชา ลาวและเวียดนามเพื่อรวมตัวทำตลาดร่วมกัน ป้องกันการแข่งขันในการแย่งตลาดกันเองและป้องกันการสวมสิทธิ์ ควบคุมกลไกตลาดในอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับราคาสินค้าเกษตรเป้าหมาย รวมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การให้บริการยื่นขอหนังสือสำคัญการส่งออกนำเข้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการลงลายมืออิเล็กทรอนิกส์ และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ