กนร.ยกฐานะ"แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์"ขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้คลังถือหุ้น 100%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 12, 2012 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(กนร.) มีมติให้ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์) ยกฐานะขึ้นเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจอีก 1 แห่ง เพื่อยกระดับให้เทียบเท่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จากเดิมที่เป็นเพียงบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. ทั้งนี้จะมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 100% โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม

ปัจจุบันแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์มีปัญหาในการบริหารงาน เนื่องจากทุนจดทะเบียนเพียง 140 ล้านบาทที่น้อยเกินไป รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการมีจำนวนน้อยซึ่งมีอยู่ 45,000 คน/วัน และเสาร์-อาทิตย์ 50,000-55,000 คน/วัน ประกอบกับปัญหาในการบริหารจัดการและปริมาณผู้โดยสารที่เช็คอินในระบบที่สถานีมักกะสันไปสถานีสุวรรณภูมิมีจำนวนน้อยมากประมาณ 300 คน/เดือน และการเชื่อมต่อระหว่างสถานียังไม่มีความเรียบร้อย

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมีมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น พร้อมกับต้องการเงินทุนหมุนเวียนอย่างเร่งด่วนเพื่อบริหารงาน อย่างไรก็ดี ที่ประชุม กนร.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาโครงสร้างการดำเนินงานทั้งหมดเพิ่มเติมอีก 6 เดือน ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาต่อไป

ด้าน พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เสนอความคิดต่อที่ประชุม เพื่อให้มีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟสีแดงและแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงที่ 2 เพราะส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงรังสิต-บางซื่อ เนื่องจากรัฐบาลมีแผนก่อสร้างรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์เพื่อเชื่อมต่อสุวรรณภูมิ-พญาไท-ดอนเมืองอยู่แล้ว ผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการไม่ได้แยกว่าเป็นประชาชนหรือนักท่องเที่ยว เพราะสามารถใช้บริการเอ็กซ์เพรสและซิตี้ไลน์จึงไม่ควรทำให้เกิดความซ้ำซ้อน

ดังนั้นวันพรุ่งนี้(13 ก.ย.) เวลา 14.00 น. กระทรวงคมนาคมจะจัดเวิร์กชอปเพื่อระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ว่าจะก่อสร้างรถไฟสายสีแดงหรือแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ การพัฒนารถไฟรางคู่ด้วยระบบมิเตอร์เกจขนาดรางกว้าง 1 เมตร ระยะทาง 4,000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดระยะสั้นไม่ควรขยายเพิ่มมากกว่าโครงการเดิม เพราะการทำรถไฟรางคู่หรือรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ เมื่อจะทำเพิ่มควรก่อสร้างให้เป็นรางแบบสแตนดาร์ดเกจขนาด 1.43 เมตร เพราะถ้าหากขยายรางแบบ 1 เมตรเพิ่มขึ้นกว่าเดิม จะลงทุนโดยสิ้นเปลืองนับแสนล้านบาท เมื่อสร้างแล้วจะต้องใช้รางดังกล่าวอีก 100 ปี ดังนั้นจึงควรสร้างแบบสแตนดาร์ดเกจ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟทั้งอาเซียน และการเชื่อมต่อรถไฟไปจีน ยุโรป จึงต้องให้มีรางมาตรฐานเช่นเดียวกับต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ