"ดร.โกร่ง"แนะภาคการเงินไทยปรับกฎระเบียบ-โครงสร้างภาษี รับมือ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 13, 2012 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ กล่าวในงานปาฐกาพิเศษ เรื่อง "เพิ่มพลังขีดแข่งขันรับบริบทใหม่ AEC" ว่า สถาบันการเงินไทยจะต้องปรับตัวรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการปรับปรุงกฎระเบียบ กรอบการกำหนดนโยบายการเงิน ที่ยังมีความแตกต่างกันในปัจจุบัน เช่นมาตรฐานบาเซิล 3 ดังนั้นทางการต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้หลังการรวมตัวของอาเซียนแล้ว ข้อแตกต่างดังกล่าวจะต้องทำให้สอดคล้องกัน แต่เชื่อว่าที่ประชุมธนาคารกลางอาเซียนคงมีการหารือในเรื่องนี้กันมามากแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีเงินปันผล หากไทยยังมีอัตราภาษีสูง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีภาษี ทำให้เงินไหลไปลงทุนในประเทศที่ไม่มีภาษี เช่น ในฮ่องกง สิงคโปร์ มลายู ดังนั้นหลังการเปิด AEC จะมีเงินฝากไหลไปสถาบันการเงินที่ไม่มีภาษี ทำให้สถาบันการเงินไทยเสียเปรียบ ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้มีการปรับลดเหลือ 23% ในปีนี้ และเหลือ 20% ในปีหน้า จากนั้นจะมีการพิจารณาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีสูงถึง 37% ต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างกันมาก

ส่วนธนาคารพาณิชย์ไทยที่เร่งเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้าน มองว่ามีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และการมีระบบโทรคมนาคม การจัดส่งข้อมูลต่างๆ มีความสะดวกมากขึ้น ดังนั้นการเปิดสาขาต่างประเทศจึงมีความจำเป็นน้อยลง

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิ์วัฒน์ รมว.อุตสาหกรรมก กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยที่ได้โอกาสจากการเปิด AEC คือกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่กลุ่มที่เสียโอกาส คือเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่เสียเปรียบอยู่แล้วและจะเสียเปรียบมากขึ้น คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เนื่องจากต้องแข่งขันกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามมองว่า การเปิด AEC ประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุดคือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนไทยมีความพร้อมทางด้าน know how เงินทุน และการค้าชายแดนกับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และความได้เปรียบด้านแรงงานต้นทุนต่ำ ระบบขนส่ง แต่ไทยต้องมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งการค้าชายแดนให้สำเร็จด้วย ส่วนอินโดนีเซียได้เปรียบด้านภาษา และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ