วงการแนะรัฐควรกระตุ้นใช้ยางธรรมชาติแทนลดปริมาณส่งออก เหตุทำให้เสียโอกาส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 13, 2012 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวในวงการยาง เสนอแนะรัฐบาลควรเร่งออกมาตรการจูงใจและกระตุ้นการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ และกำหนดให้ใช้เพียง 5% ก็จะทำให้เกิดความต้องการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด

ส่วนกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทำข้อตกลงร่วมกับประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่จะลดปริมาณการส่งออกยางทันที 3 แสนตัน นั้น มองว่า ทำให้เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะช่วงเดือนตุลาคม - มกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่ผลผลิตยางของไทยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นช่วงผลัดใบ ผลผลิตออกไม่มาก ส่วนประเทศมาเลเซียไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยเพื่อไปแปรรูปและส่งออก ดังนั้น การทำข้อตกลงลดการส่งออกยางทันที จึงส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรไทย

“รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจการใช้ยางธรรมชาติในประเทศมากกว่าให้ลดปริมาณการส่งออกยางทันที เพราะขณะนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตยางของไทยออกสู่ตลาดมาก อีกทั้งขณะนี้เป็นช่วงที่ประเทศยุโรปต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก การลดปริมาณการส่งออกจึงทำให้เกษตรกรไทยเสียโอกาส" แหล่งข่าวกล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

พร้อมกันนี้ ตนยังคงยืนยันความคิดเดิมที่อยากให้ยกเลิกการจัดเก็บเงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (CESS) หรือลดอัตราการจัดเก็บลง เพื่อให้ผู้ส่งออกยางสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่างๆ ที่มีการปลูกยางธรรมชาติในโลก ไม่มีการจัดเก็บเงินดังกล่าว มีเพียง 2 ประเทศคือ ไทยและมาเลเซียที่จัดเก็บเงิน CESS

โดยมาเลเซียจัดเก็บที่อัตรา 1.40 บาท/กก. ขณะที่ไทยจัดเก็บในอัตราสูงถึง 5 บาท/กก.

ด้านแหล่งข่าวในวงการยางอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า เงิน CESS คือภาษีส่งออกทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตด้วยกันรายอื่นๆ ของเราลดลง เพราะอินโดนีเซียไม่มีการเก็บภาษีส่งออกยาง มาเลเซียเก็บ 1.40 บาท/กก. ทำให้ขายยางราคาถูกกว่าไทย ผู้ซื้อก็จะหันไปซื้อจากคนที่ขายถูกกว่า

"ถ้าจะยกเลิกได้ก็มีสิทธิ์ที่ราคายางไทยเวลาส่งออกไปจะสู้คนอื่นได้ จะทำให้ขายได้ในปริมาณมากขึ้น และก็น่าจะช่วยทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติตามกลไกตลาด"แหล่งข่าวกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ