นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ กกธ. เปิดเผยภายหลังการประชุม กกธ.เพื่อประเมินผลการทำงานของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ว่า เรื่องนี้ถือเป็นความลับ คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่โดยภาพรวมส่วนตัวอยากเห็น ธปท.เป็นองค์กรขุมทรัพย์ทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและนโยบายการเงิน ที่สามารถอธิบายต่อสาธารณชนได้ชัดเจน โดยเฉพาะในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะเป็นเกียรติภูมิที่สำคัญของ ธปท.
“ขุมทรัพย์ทางวิชาการในที่นี้ หมายถึงนโยบายทุกอันมีทั้งผลดีและผลเสีย และผลข้างเคียง เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักผลได้และผลเสียที่จะเกิดขึ้นของเป้าหมายต่างๆ เมื่อถึงจุดนี้จะเป็นการใช้ดุลยพินิจก็ต้องอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องเลือก และเลือกแล้วจะมีผลได้อย่างไร ทำไมจึงให้น้ำหนักอันนี้มาก ส่วนความเห็นเรื่องดุลยพินิจที่อาจมีความแตกต่างกัน ถือเป็นเรื่องปกติและสมควรที่จะมีความเห็นที่ต่างกัน เพราะถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องอยู่บนเหตุและผลที่สามารถอธิบายบนตรรกะที่ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งส่วนตัวอยากเห็น ธปท.เป็นเสาหลักในเรื่องนี้"นายวีรพงษ์ กล่าว
สำหรับประเด็นการตรวจสอบและกำกับดูแลสถาบันการเงินนั้น ยอมรับว่า ธปท.สามารถดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสถาบันการเงิน ถึงเรื่องมนุษยสัมพันธ์ระหว่าง ธปท.กับสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินอยากเห็น ธปท.มีความติดดินและใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจว่าอาจเป็นประเพณีของเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบและกำกับสถาบันการเงินที่อาจไม่เคยพูดคุยหรือไม่มีความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการกับสถาบันการเงิน มองว่าประเด็นนี้น่าจะยืดหยุ่นได้หรือไม่ หากยืดหยุ่นได้จะมีจุดที่พอดีและเหมาะสมอยู่ตรงไหน แทนที่จะไปสุดกู่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ อาจทำให้ ธปท.ได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ทำให้ไม่เป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน