ธปท.พร้อมคลายเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนตปท.-เอกชนแนะแก้ระบบภาษีซ้ำซ้อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 13, 2012 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงบทบาทและนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในงานสัมมนา"นโยบายส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โอกาสหรือความเสี่ยง"ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพร้อมรองรับการออกไปลงทุนต่างประเทศ ทั้งในแง่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ ระดับหนี้สาธารณะมั่นคง อัตราว่างงานต่ำ

ธปท.ยืนยันว่าไทยต้องหาแนวทางขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ขณะที่ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศเทียบหนี้ระยะสั้นสูงถึง 3 เท่า ภาคสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่งรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระดับต่ำ

"ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและสถาบันการเงินไทยสะท้อนว่ามีความพร้อมทำกิจกรรมนอกประเทศไทย" นางสุชาดา กล่าว

ที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนขาออกอย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนโดยตรง บุคคลธรรมดาสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้โดยเสรี ขณะที่นิติบุคคลได้ผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว ส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ สำหรับผู้ลงทุนสถาบันให้เพิ่มประเภทผู้ลงทุนสถาบันที่ไปลงทุนต่างประเทศได้โดยตรง ไม่กำหนดวงเงินลงทุนต่อรายขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแล การให้กู้แก่บริษัทลูก-บริษัทแม่เพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนบุคคลธรรมดา สามารถไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มจาก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และลดขั้นตอนการขออนุญาต

ทั้งนี้ พบว่าเอกชนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศมากที่สุด คือ ฮ่องกง พม่า ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในลักษณะ Holding company และลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน อาหาร

นางสุชาดา กล่าวว่า ในแง่ของความเสี่ยงจากการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ อาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้น และส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้น ระยะแรกหนี้ต่างประเทศของไทยอาจเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)เพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และเป็นผลดีในระยะยาว ส่วนโอกาสมองว่าสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพิ่มความสมดุลของเงินทุนไหลเข้า-ออก และฐานเงินลงทุนสุทธิของประเทศ

ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอแนะให้มีการจัดตั้งศูนย์การลงทุนต่างประเทศ (Bord of Internation Invesment:BOII)จากปัจจุบันมีเพียงทูตพาณิชย์ โดยการตั้งศูนย์รวมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศจะเป็นกลไกลบุกเบิกการลงทุนต่างประเทศ วางยุทธศาสตร์การลงทุน จัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในประเทศต่างๆ โดยอาจเริ่มตั้งสำนักงานสาขาแห่งแรกที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศพม่า

กลไกสนับสนุนการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกตลาดการเงินถือว่ามีความพร้อม ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมทำงานคู่ขนาดเพื่อพัฒนาตลาดทุนรองรับ ขณะเดียวกันเห็นว่าควรมีการส่งเสริมและปฎิรูปด้านภาษีรองรับ เพื่อให้แข่งขันได้กับสิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่าไทย ลดความซ้ำซ้อนการจัดเก็บภาษี และอาจมีการวางระบบพัฒนาภาษีในระยะยาวรองรับ เสนอให้นำค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนต่างประเทศมาหักลดหย่อนภาษีได้ เช่น การศึกษาเพื่อการลงทุนที่ต้องมีการจ้างที่ปรึกษา เงินลงทุนเพื่อเตรียมการลงทุนในต่างประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า การสร้างความพร้อมการระดมทุน โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุนภาคเอกชน อาจมีการยกเว้นภาษีให้เพิ่มเติมสำหรับผู้ออกและผู้ลงทุน การให้นิคมอุตสาหกรรมนำร่องการลงทุนในต่างประเทศ มีการส่งเสริมภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ให้สามารถลงทุนในต่างประเทศได้

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู(BANPU)กล่าวว่า การไปลงทุนในต่างประเทศถือเป็นโอกาสของไทย แต่ความพร้อมของไทยมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์มีการลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นภาคการเงินและการลงทุน ส่วนมาเลเซียเป็นการลงทุนในภาคธนาคาร สายการบิน บริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่ไทยถือว่ามีความได้เปรียบ 2-3 ด้าน โดยเฉพาะจำนวนประชากร 60 ล้านคน ที่มีผลดีต่อการบริโภคและแรงงานไม่ขาดแคลน

แนวโน้มบริษัทไทยจะไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นทั้งในภาคการก่อสร้าง แต่ที่เห็นชัดเจนคือพลังงาน เกษตรกรรม ธุรกิจค้าปลีก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และธนาคารพาณิชย์ โดยไทยถือว่ามีจุดแข็งสำคัญที่สามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ 10-15 กลุ่ม ซึ่งมาเลเซียไม่มี และถือเป็นความพร้อมของไทยหากได้รับการสนับสนุนที่ดี

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการลงทุนในต่างประเทศยังมีข้อจำกัดทั้งการลงทุนและเงินกู้ระยะยาวในรูปดอลลาร์สหรัฐ เพราะหากมีการกู้เงินระยะยาวเป็นเงินบาท และทำ swap จะถูก mark to market ทุกไตรมาส ดังนั้น หากสถาบันการเงินไทยมีการพัฒนากลไกให้สามารถกู้เงินระยะยาวเป็นดอลลาร์สหรัฐได้ รวมถึงการขยายขอบข่ายของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(Exim bank) จะช่วยสนับสนุนได้

นอกจากนั้น ระบบภาษียังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งยังมีการเก็บภาษีซ้ำซ้อน จากการเสียภาษีในต่างประเทศแล้ว เมื่อมีรายได้ปันผลส่งกลับประเทศ ยังถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อีก 15% และหากเป็น holding company ยังต้องกลับมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศอีก 23%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ