กสิกรฯมองQE3กดดันดอลลาร์ หวั่นสหรัฐเงินเฟ้อพุ่งก่อนแก้ปัญหาแรงงานได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 17, 2012 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางของตลาดเงินตลาดทุน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ผ่านโครงการซื้อสินทรัพย์/หลักทรัพย์รอบใหม่แบบไม่จำกัดเวลา(Open-Ended Quantitative Easing 3: Open-Ended QE 3) พร้อมกับขยายเวลาการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นพิเศษให้นานขึ้นกว่าเดิมไปจนถึงช่วงกลางปี 58 ว่า ระดับอัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินทรัพย์ในตลาดต่างๆ ในขณะนี้ น่าจะซึมซับข่าวดีของมาตรการ Open-Ended QE 3 ไปค่อนข้างมากแล้ว

สำหรับการตอบรับของตลาดการเงินหลังมติการประชุมของเฟดในครั้งนี้ ออกมาในรูปของแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ที่เพิ่มขึ้น สวนกระแสแรงซื้อในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง หุ้น ทองคำ และน้ำมัน

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า เฟดน่าจะเผชิญกับทางเลือกนโยบายการเงินที่จำกัดมากขึ้น หลังจากการประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในรอบนี้ ซึ่งก็ย่อมจะทำให้แนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปีข้างหน้า คงจะขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาความท้าทายทางด้านการคลัง หรือความเสี่ยง Fiscal Cliff (ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนแรงฉุดทางด้านการคลังที่เกิดจากการสิ้นสุดช่วงเวลาผ่อนปรนทางด้านภาษีและมาตรการลดหย่อนต่างๆ ในช่วงสิ้นปี 2555 กับจุดเริ่มต้นของการปรับลดงบประมาณระยะยาวที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2556) ของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 นี้

"การประเมินทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินในช่วงหลังจากนี้ นอกจากจะต้องพิจารณาสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ที่อาจจะสะท้อนช่วงเวลาสิ้นสุดของมาตรการ QE 3) แล้ว ยังคงต้องติดตามอีกหลายตัวแปรประกอบเข้าด้วยกัน ได้แก่ กระแสเม็ดเงินจริงที่จะเคลื่อนออกจากตลาดสหรัฐฯ และพัฒนาการในเชิงบวกของแนวทางการแก้วิกฤตหนี้ยุโรป ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่จะสะท้อนว่า แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ จะมีความต่อเนื่องยาวนานเพียงใด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Open-Ended QE 3 ของเฟดว่าจะสามารถช่วยให้เฟดบรรลุภารกิจเป้าหมายการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ก่อนที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะย้อนกลับมาเพิ่มข้อจำกัดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมาตรการ Open-Ended QE 3 ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ จนส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานดังเช่นในช่วงมาตรการ QE 1 และมาตรการ QE 2 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ