HSBC แนะ overweight ตลาดไทยใน Q4/55 โครงสร้างแกร่ง-ราคาไม่แพง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 17, 2012 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยระดับโลก ธนาคารเอชเอสบีซี นำเสนอบทความเรื่อง"เจาะลึกหุ้นเอเชียรายไตรมาส (ประจำไตรมาส 4/55)"โดยแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักลงทุน (overweight)ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยมองตลาดไทยว่าเป็นตลาดที่มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งในระยะยาว และมีปัจจัยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น อีกทั้งเป็นตลาดยอดนิยม แต่ราคาหุ้นยังอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล

"ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งในระยะยาว ราคาหุ้นไทยอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตเกินคาดในระยะสั้น มีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่น่าสนใจ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองมีแนวโน้มผ่อนคลายลง"บทความของธนาคารเอชเอสบีซี ระบุ

ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดยอดนิยมแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ทั้งในด้านซื้อและขาย นายเลอีฟ เอสกีเซน นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี เชื่อว่านโยบายการคลังของไทยจะช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากปัญหาเงินทุนไหลออกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่น่าเป็นห่วง นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงทรงตัวอยู่ได้ในปีนี้โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ดีที่สุดของนักวิเคราะห์ แต่แนวโน้มของเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินใจใช้นโยบายโดยคำนึงถึงตัวเลขต่างๆที่จะออกมาในระยะข้างหน้าท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ในยุโรป

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ สูงกว่าตัวเลขจริงเล็กน้อยหลังจากผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ออกมาดีมาก ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 2 พบว่า มีบริษัทที่มีผลประกอบการต่ำกว่าคาดอยู่ร้อยละ 43 และมีบริษัทที่มีผลประกอบการเกินคาดเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น

ธนาคารเอชเอสบีซี ยังระบุว่า น่าแปลกใจว่านักวิเคราะห์ไทยต่างพากันปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลง แต่เราไม่เชื่อว่าจะปรับลดลงมาก ส่วนใหญ่เชื่อว่าบริษัทไทยจะสามารถเติบโตยอดขายได้ในระดับใกล้เคียงกับตัวเลขการขยายตัวเบื้องต้นของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ ในขณะนี้ความเห็นส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขยอดขายในปีนี้จะขยายตัวที่ 10.3% และตัวเลข EBIDA จะเพิ่มขึ้น 0.5% และส่วนต่างของผลกำไรของบริษัทต่างๆที่ลดลงคงเป็นผลมาจากแรงกดดันด้านค่าจ้างแรงงาน และการขยายตัวของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของปีนี้คาดไว้ที่ 17.2%

ราคาหุ้นไทยขณะนี้ซื้อขายกันที่ประมาณ 11 เท่าของตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย (ที่ 10.9 เท่า) ทั้งที่บริษัทไทยจะมีอัตราการขยายตัวของผลประกอบการที่ดีกว่า (17.2% เทียบกับ 11.4%)

ในภาพรวม ปีนี้นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อหุ้นไทยเป็นมูลค่ารวม 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ได้ทยอยขายออกไป 700 ล้านเหรียญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เราคาดว่าจะมีกองทุนรวมต่างๆ เข้ามาซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นในไตรมาสถัด ๆ ไป เนื่องจากจำนวนหุ้นไทยที่มีอยู่ในพอร์ตขณะนี้ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานของน้ำหนักลงทุนที่ให้กับประเทศไทย

ถ้าพิจารณาในด้านอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) พบว่า หุ้นในหมวดสินค้าปลีกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสินค้าฟุ่มเฟือย ให้ผลตอบแทนดีที่สุด สัดส่วนของราคาต่อหุ้น (price/book value) เมื่อเทียบกับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สะท้อนว่าราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังไม่แพงเกินไป

:ความเห็นรายตลาด

เพิ่มน้ำหนักลงทุน (overweight) ในตลาดอินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และไทย

ให้น้ำหนักลงทุนเป็นกลาง (neutral) ในตลาดสิงคโปร์ เกาหลี ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง

ลดน้ำหนักลงทุน (underweight) ในตลาดไต้หวัน และอินเดีย

:ความเห็นรายกลุ่มธุรกิจ

เพิ่มน้ำหนักลงทุน (overweight): สินค้าเพื่อสุขภาพ กลุ่มพลังงาน สินค้าฟุ่มเฟือย

ให้น้ำหนักเป็นกลาง (neutral): ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจการเงิน สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจสื่อสาร

ลดน้ำหนักลงทุน (underweight): สินค้าอุตสาหกรรม กิจการสาธารณูปโภค สินค้าวัสดุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ