World Today: สรุปข่าวต่างประเทศประจำวันที่ 19 กันยายน 2555

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 19, 2012 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของออสเตรเลียไว้ที่ AAA และความน่าเชื่อถือระยะสั้นที่ A-1+ โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ

-- ธนาคารกลางสเปนรายงานว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคธนาคารสเปนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.ปีนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสเปนพุ่งขึ้นจาก 8.9% สู่ระดับ 9.86% ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1.6933 แสนล้านยูโร (ราว 2.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)

-- สำนักงานสถิติของสเปน (INE) รายงานว่า คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ค.ลดลง 2.8% จากช่วงเดือนเดียวกันในปี 2554 โดยเป็นการปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

-- กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยในวันนี้ว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในเดือนส.ค.ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

-- นายเจฟฟรีย์ แลคเกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ กล่าววานนี้ว่าการตัดสินใจของเฟดในการซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมและดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่นๆจะทำให้มีความมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้น

-- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ขณะที่ปรับลดการประเมินด้านเศรษฐกิจของประเทศ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของบีโอเจมีมติเป็นเอกฉันท์ในการขยายวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 80 ล้านล้านเยน จากเดิม 70 ล้านล้านเยน พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ราว 0-0.1% สำนักข่าวเกียวโดรายงาน

-- นายมาซาอากิ ชิราคาวา ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในวันนี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะล่าช้าออกไปอีกครึ่งปี

ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในการแถลงข่าวว่าบีโอเจพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงดำเนินไปในทิศทางที่มู่งสู่การขยายตัวอย่างยั่งยืน

-- นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ (BofA Merrill Lynch) คาดว่าราคาทองจะแตะระดับ 2,400 ดอลลาร์/ออนซ์ภายในสิ้นปี 2557 อันเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ หรือ QE3 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

-- มูดี้ส์ อะนาลิติกส์ ระบุว่ามีความเป็นไปได้ 15% ที่สหรัฐจะเผชิญภาวะหน้าผาทางการคลัง หรือ fiscal cliff พร้อมกับเตือนว่าสถาบันการเงินต่างๆต้องดำเนินในเชิงรุกเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในบรรยากาศที่ยังคงมีความไม่แน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ