"ณัฐวุฒิ"ผลักดันใช้ยางพาราสร้างถนน-หมอนรถไฟหนุนราคาสูงขึ้นในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2012 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการใช้ยางพาราในประเทศว่า จะต้องส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อยกระดับยางพารา และกระตุ้นราคายางพาราในประเทศ เนื่องจากผลผลิตยางพาราของประเทศไทยในปัจจุบันประมาณ 3.5 ล้านตัน เป็นการส่งออกร้อยละ 86 และใช้ในประเทศเพียงร้อยละ 14 ซึ่งตนเองเห็นว่า

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะมีการทำถนนยางพารา ซึ่งถือเป็นถนนนำร่อง โดยใช้ยางพาราแทนยางมะตอย เริ่มจากถนนหมู่ที่ 2 ต.เขาขาว อ.ทุ่งสง ตัดผ่านพื้นที่ขององค์การสวนยาง ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ ไปบรรจบถนนสายบ้านคอกช้าง ต.บางขัน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีระยะทาง 19 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณจากกรมวิชาการเกษตร 85.5 ล้านบาท ทั้งนี้ได้ขอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท มาร่วมในขั้นตอนการก่อสร้าง จะเชิญชวนนักการทูต นักลงทุน ทั้งใน และต่างประเทศ มาสังเกตุการในการก่อสร้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะก่อสร้างเสร็จภายใน 3-4 เดือน

นอกจากนี้ ระหว่างรอการสร้างถนนเส้นนี้แล้วเสร็จจะจัดงาน World Rubber Expo บนถนนเส้นนี้ เพื่อแสดงนวตกรรมธรรมชาติที่มาจากงานวิจัย และจากผู้ประกอบการ โดยจะเชิญชวนผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากทั่วโลกมางานนี้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ไปคิดแพ็คเกจการลงทุนรองรับการจัดงานครั้งนี้อีกด้วย โดยตั้งเป้าให้งานครั้งนี้เป็นเวทีเจรจาธุรกิจยางพาราที่มีกลุ่มผู้ประกอบการจากทั่วโลกในประเทศที่เกี่ยวข้องมาพบกัน ซึ่งในระหว่างนี้จะเดินสายโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว ซึ่งคาดว่า น่าจะเริ่มจัดงานได้ในปีหน้า

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปศึกษาการใช้ยางพาราผลิตหมอนรถไฟแทนไม้ พร้อมกับแผ่นยางที่ตัดกับถนน ไม่ใช้ไม้หมอน ซึ่งกำหนดให้ใช้ระยะเวลา 1 ปี โดยให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อสอดรับกับโครงการรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลมีแผนดำเนินการ ซึ่งหากการรถไฟทดสอบแล้วเห็นว่าคุ้มค่า และได้ผล มีความคงทน ก็จะใช้วัตถุดิบยางพาราเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำโครงรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง

อีกทั้ง ยังได้มอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาการใช้ยางพาราแทนคันดินกั้นน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่าได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ต้องการให้มีการศึกษาที่ชัดเจนเป็นระบบ รวมทั้งให้ดูการพัฒนาการเพิ่มการผลิตตัวยึดสำหรับแผ่น ยางพาราที่จะใช้เป็นฝายกั้นน้ำด้วย เนื่องจากไม่สามารถนำไปติดตั้งได้ทันที

ในส่วนภาคเอกชน ทางสมาคมถุงมือยาง ได้มีการเสนอว่า การประกาศให้ถุงมือยางเป็นเครื่องมือแพทย์ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศ เพราะเมื่อประกาศเป็นเครื่องมือแพทย์แล้ว ถุงมือยางที่ผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐาน มีตำหนิเล็กน้อย ก็ใช้การไม่ได้ ซึ่งถ้านำไปใช้ก็จะผิดกฎหมายถูกดำเนินคดี ขณะที่ประเทศมาเลเซียที่ผลิตถุงมือยางจำนวนมาก ไม่มีกฎหมายดังกล่าว ทำให้ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางในมาเลเซียเติบโตกว่าของไทยกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางรมว.สาธารณสุขจะรับไปพิจารณา แล้วจะแก้ไขในประเด็นดังกล่าว โดยการประกาศยกเลิกให้ถุงมือยางเป็นเครื่องมือแพทย์ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมถุงมือยางเติบโต และขยายตัวมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนท์ (ITD) ระบุว่า ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ สายพานลำเลียงขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ และประเทศไทยต้องนำเข้าสายพานลำเลียงดังกล่าวจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ คือประเทศเยอรมนี ซึ่งเห็นว่าน่าจะมีการส่งเสริมการลงทุน และพัฒนาธุรกิจดังกล่าวขึ้นในประเทศ โดยในวันพรุ่งนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะได้พบกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเยอรมนี จะมีการหารือถึงเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งเบื้องต้นจะเชิญชวนให้มีการลงทุนผลิตสายพานลำเลียงขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุน และการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาแนวทางส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ด้านยางพาราเพื่อยกระดับการเป็นเพียงผู้ผลิตให้เป็นผู้แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเชื่อว่านโยบายทั้งหมดนั้น อาจจะส่งผลในเชิงจิตวิทยาทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่เป้าหมายหลัก คือเพื่อต้องการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ