ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มอาเซียน จะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 55.5 — 56.5 ล้านเมตริกตันในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4-6 จากปีก่อน และคาดว่าในปี 2556 ตลาดอาเซียนยังคงมีอุปสงค์เหล็กเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.0-6.5 ของปริมาณใช้เหล็กในปีนี้ เนื่องจากการขยายตัวของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในไทย พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นหลัก รวมทั้งยังมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความต้องการใช้เหล็กสูง อาทิ กลุ่มยานยนต์
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ แต่เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มอาเซียน พบว่า อุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงมีศักยภาพสูง เพราะมีการผลิตและส่งออกเหล็กเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านคุณภาพ นอกจากนี้ ภายในประเทศยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เข้ามาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในไทยให้เติบโต อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และภาคการก่อสร้าง เป็นต้น จึงคาดว่าไทยยังคงขยายการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนได้อยู่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยไปยังตลาดอาเซียนในปี 2555 อาจมีมูลค่าประมาณ 57,5000 — 59,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 — 5.5 ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ อาทิ ถนน เขื่อนสร้างพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ และระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2555 มูลค่าส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยไปยังอาเซียน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กขั้นปลาย) ร้อยละ 16.3 ขณะที่มูลค่าส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า (เหล็กขั้นกลาง) หดตัวร้อยละ 14.5 โดยที่ผลิตภัณฑ์เหล็กที่สร้างรายได้จากการส่งออกอันดับแรกๆ ล้วนอยู่ในกลุ่มเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กจำพวกตะปูไปยังสปป.ลาว มากขึ้น 1.3 เท่า และส่วนประกอบสิ่งก่อสร้าง เช่น ประตูและหน้าต่าง ไปยังมาเลเซียเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากความต้องการใช้เหล็กเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งยกตัวอย่างโครงการสำคัญของทั้งสองประเทศนี้ คือ สปป.ลาว: โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิตไฟฟ้า 390 MW มูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท และโครงการเทินหินบุนกำลังการผลิตไฟฟ้า 220 MW (น้ำ) มูลค่าลงทุน 26,900 ล้านบาท มาเลเซีย: โครงการรถไฟฟ้าจาก Ipoh ไป Padang Besar มูลค่าลงทุน 3,880 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และรถไฟความเร็วสูงข้ามผ่านระหว่าง Woodlands (สิงคโปร์) กับ JB Sentral (Johor Baru) มูลค่าลงทุน 9,700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการเหล็กไทย จึงน่าจะหันมาให้ความสนใจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและมูลค่าสินค้าตน และเมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกเหล็กไปยังอาเซียน พบว่าสินค้าจำพวกเหล็กและเหล็กกล้า มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก มีสัดส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด นับว่าอาเซียนยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพื่อขยายการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทย
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กไทยก็ควรปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้าสู่ AEC และความต้องการใช้เหล็กที่ขยายตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาวิธีบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อควบคุมความเสี่ยง, เตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนสำรองไว้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและกันไว้ขยายการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่อุปสงค์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งพลังงานเชื้อเพลิงหลัก คือ ถ่านหิน จัดว่ามีต้นทุนสูงมาก จึงควรเริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ทดแทน
นอกจากนี้ ผู้ผลิตเหล็กขั้นปลายกับขั้นกลางควรสร้างพันธมิตรด้านการผลิตเหล็กมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายเศษเหล็กในประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลัก กล่าวได้ว่า ปัจจุบันไทยยังคงนำเข้าเศษเหล็กโดยเฉลี่ย 25,000 ล้านบาทต่อปี และส่งออกเศษเหล็กเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยอาจจะหันมาซื้อขายเศษเหล็กในประเทศมากกว่าส่งออก เพื่อให้วัตถุดิบสำคัญหมุนเวียนใช้ในประเทศทดแทนการนำเข้า รวมถึงควรมีกระบวนการคัดแยกประเภทเศษเหล็ก ทั้งที่นำเข้าและซื้อจากผู้ประกอบการในประเทศ ก่อนเข้าขั้นตอนการผลิตเพื่อควบคุมคุณภาพ
รวมทั้งควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปที่เป็นจุดแข็งของตน หรือขยายรูปแบบเหล็กสำเร็จรูปใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า (Value Added) ทั้งนี้เนื่องจากราคาเหล็กและเหล็กกล้าทั้งในตลาดโลกและในอาเซียนเริ่มปรับตัวลดลง จากการเกิดอุปทานเหล็กในตลาดโลก เหตุเพราะประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ผลิตออกมามากเกินความต้องการ ซึ่งเห็นได้ว่าราคาเฉลี่ยเหล็กในอาเซียน ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้จากปีก่อน ปรับตัวลดลงเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเหล็กม้วนรีดร้อน (Hot Rolled) เหล็กม้วนรีดเย็น (Cold Rolled) และเหล็กลวด (Wire Rod) มีราคาปรับตัวลดลงเฉลี่ยร้อยละ 8 จากปีที่แล้ว1 อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพแก่อุตสาหกรรมเหล็กไทย ภาครัฐอาจจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการมีมาตรการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กที่ชัดเจน สนับสนุนและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมเส้นทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงการค้าและการลงทุน