คลังเว้นภาษีเงินได้กระตุ้นการออมเพื่อการเกษียณ, ขยายเวลาลดภาษีผปก. 3 จ.ชายแดนใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2012 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สิทธิยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคล สำหรับลูกจ้างที่ออกจากงานก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ยังคงเงินสะสมและผลประโยชน์ทั้งจำนวนไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนถึงอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยสิทธิดังกล่าวจะครอบคลุมในกรณีลูกจ้างเสียชีวิตหรือทุพพลภาพด้วย จากเดิมลูกจ้างจะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ของเงินสะสมและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เฉพาะกรณีเกษียณอายุตามข้อบังคับของกองทุน เสียชีวิต หรือออกจากงานเพราะทุพพลภาพเท่านั้น

"การแก้ไขกฎเกณฑ์ โดยให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ของเงินสะสมและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างที่ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี แต่ฝากเงินสะสมและผลประโยชน์ให้กองทุนฯ บริหารต่อ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกจ้างออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ซึ่งสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นแนวทางเดียวกับที่สมาชิกกองทุนเพื่อการเกษียณโดยทั่วไปได้สิทธิอยู่ในปัจจุบัน" นายกิตติรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้พิจารณาขยายเวลามาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับนักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.55 เป็นวันที่ 31 ธ.ค.57 ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับมาตรการช่วยเหลือนักลงทุน ผู้ประกอบการและประชาชนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการขยายเวลา ได้แก่

1.มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่จัดเก็บจากกำไรสุทธิ ในปี 55 ที่ร้อยละ 23 และในปี 56 ที่ร้อยละ 20 เหลือเพียงร้อยละ 3

2.มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้สามารถนำเงินพึงประเมินมาตรา 40(7) และ (8) มาคำนวณในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดเงินพึงประเมิน โดยสามารถเลือกที่จะไม่นำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณภาษีปลายปี และในส่วนของเงินได้ที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เหลือร้อยละ 0.1 ด้วยเช่นกัน

3.ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไรในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0.1

4.มาตรการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธินิติกรรม การจดทะเบียนการโอนและการจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินในกรณีการโอน และเหลือร้อยละ 1 ของราคาประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท กรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์

5.มาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกัน โดยการสนับสนุนส่วนต่างของเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ระหว่างร้อยละ 0.3 — 2

6.มาตรการสินเชื่อผ่อนปรน ให้ธนาคารออมสินสนับสนุนวงเงินสินเชื่อจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจกู้ในอัตราผลตอบแทนร้อยละ 0.01 และปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการในอัตราผลตอบแทนร้อยละ 1.5

7.มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ให้มีการพักชำระหนี้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปีโดยในปีแรกรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยวงเงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท ในอัตรา MRR และในปี 2 และ 3 สำหรับดอกเบี้ยในส่วนเงินต้นที่เกิน 200,000 บาท เกษตรกรต้องรับภาระเอง

8.มาตรการลดค่าธรรมเนียมกึ่งหนึ่งเกี่ยวกับการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสาร และค่าธรรมเนียมอื่นๆ

9.มาตรการสนับสนุนจากกองทุนประกันสังคม เพื่อใช้เป็นสินเชื่อผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมในวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการกู้เงินในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และ ผู้ประกันตนกู้ในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี

10.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 100 ของมูลค่าการลงทุน สำหรับโครงการใหม่จะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ