PTT เปิดสถานีประจุไฟฟ้าต้นแบบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก เล็งขยายอีก 5 แห่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2012 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรัตนาวลี อินโอชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บมจ. ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์ (R&D on Vehicle Electrification) เพื่อศึกษาวิจัยเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าของรถยนต์ โดยการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าต้นแบบ ณ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และสถานีตามเส้นทางที่วิ่งทดลอง

รวมทั้ง สร้างโครงข่ายสถานีประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการประจุไฟฟ้าให้กับรถยนต์ที่ใช้ในโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์ โดยศึกษา ติดตาม และประเมินผลเทคโนโลยีและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น เทคโนโลยีการประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่ สถานีประจุไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในห้องปฏิบัติการและในภาคสนาม รวมทั้ง รูปแบบธุรกิจการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์ (EV Business Model)

สำหรับในระยะที่ 1 ได้ติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าต้นแบบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของ ปตท. (PTT Pilot EV Charging Station) ณ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนมี.ค. 55 และได้ทดลองใช้งานจริงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Mitsubishi i-MiEV มาใช้ประเมินผลเบื้องต้นของโครงการฯ ระหว่างปี 2554-2555 ภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือวิจัย เพื่อประเมินประสิทธิภาพและสมรรถนะการใช้งานเชิงเทคนิคของรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขยายระยะทางขับเคลื่อน (Extended Range Electric Vehicle : EREV) รุ่น Chevrolet Volt มาร่วมสาธิตการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในพิธีเปิดสถานีประจุไฟฟ้าครั้งนี้ด้วย

"ปัจจุบันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งได้รับความสนใจมากขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ไร้มลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดมลพิษไอเสียที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ตลอดจนเป็นพลังงานทางเลือกที่รองรับภาวะการขาดแคลนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ในอนาคต สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี ของกระทรวงพลังงาน" นางรัตนาวลี กล่าว

สำหรับสถานีประจุไฟฟ้าต้นแบบ (PTT Pilot EV Charging Station) แห่งแรกนี้ สามารถรองรับการประจุไฟฟ้ารถยนต์ไฟฟ้าได้พร้อมกันจำนวน 3 คัน ประกอบด้วยตู้ประจุไฟฟ้า (Charger) จำนวน 3 ตู้ ได้แก่ ตู้ประจุไฟฟ้ากระแสตรงแบบเติมเร็ว (DC Quick charger, Mode 4) 1 ตู้ ใช้เวลาเติมประมาณ 30 นาที ตู้ประจุไฟฟ้ากระแสสลับแบบเติมเร็วปานกลาง (AC Normal Charger, Mode 3) ใช้เวลาเติมประมาณ 3 ชั่วโมง และ 3 ตู้ประจุไฟฟ้ากระแสสลับแบบเติมช้า (Normal Charger, Mode 1) ใช้เวลาเติมประมาณ 8 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ปตท. มีแผนขยายเครือข่ายสถานีประจุไฟฟ้ารองรับงานวิจัยฯ เพิ่มเติม อีก 5 สถานี สำหรับในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 2 สถานี (บริเวณ ปตท. สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต และบริเวณใกล้สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาเพื่อสวัสดิการ ร.1 รอ. ถ.วิภาวดีรังสิต) ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2555 และอีก 3 สถานี ได้แก่ ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-ระยอง 2 สถานี และในเขตปริมณฑล 1 สถานี (บน ถ.ชัยพฤกษ์) ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2556 ทั้งนี้ ปตท. จะทำการประจุไฟฟ้าให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จนกว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จ

"ปตท. คาดว่าผลจากโครงการวิจัยฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพในภาคขนส่งของประเทศ ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งลดมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิผล นำประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ต่อไป" นางรัตนาวลี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ